พาราสาวะถีอรชุน

ประเทศไทยยุคนี้ถูกจับตามองถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และดูเหมือนว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ว่าจะองค์กรไหน ยังคงใช้ความเป็นคนดี คนเก่งของตัวเองตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ทั้งหมด กรณีหนังอาบัติที่ถูกห้ามฉาย สุดท้ายต้องเปลี่ยนชื่อเป็นอาปัติและตัดบางฉากบางตอนออกไป เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า กรรมการแค่ไม่กี่คนนั้น ฉลาดล้ำกว่าคนทั้งประเทศ


ประเทศไทยยุคนี้ถูกจับตามองถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และดูเหมือนว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ว่าจะองค์กรไหน ยังคงใช้ความเป็นคนดี คนเก่งของตัวเองตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ทั้งหมด กรณีหนังอาบัติที่ถูกห้ามฉาย สุดท้ายต้องเปลี่ยนชื่อเป็นอาปัติและตัดบางฉากบางตอนออกไป เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า กรรมการแค่ไม่กี่คนนั้น ฉลาดล้ำกว่าคนทั้งประเทศ

ความจริงแม้เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับปมศาสนา แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังหรือภาพยนตร์คนที่เสพมีสิทธิที่จะเลือกเชื่อเลือกคิดได้เอง มิหนำซ้ำ บ้านเราก็มีระบบจัดเรตของหนังไว้คอยกำกับอยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่เหมาะสมกับคนตั้งแต่อายุระดับไหนลงไป ก็สามารถระบุไว้ในเรตนั้นและต้องบังคับใช้กฎหมายกันอย่างเข้มงวด

แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า กฎหมาย ข้อบังคับที่มีอยู่ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะอย่างไรเสียอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์แค่ไม่กี่คน เช่นเดียวกันกับภาพใหญ่ทั้งในกรณีร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศ ที่หัสเดิมเข้าใจว่าการมีคณะกรรมาธิการยกร่างและสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. น่าจะทำให้ทุกอย่างจบได้

ทำไปทำมากลายเป็นการเหาะเหินเกินลงกาเสียอย่างนั้น ทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสปช.ทำให้เสียของ จนต้องหลุดมาถึงมือกรธ.และสปท. โดยในส่วนของรายหลังประธานองค์กรอย่าง ร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ ประกาศไว้ชัดต้องยึดหลักการปฏิรูปประเทศตามสูตร 2+2=4 ไม่มีหลุดกรอบไปจากนั้น พร้อมลั่นวาจาจะทำงานตามหลักสัจธรรมของโซเครติส

ที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนต้องเงี่ยหูฟังคือวลีทองที่บอกว่า นักวิชาการต้องรักษาสัจธรรม คนไทยต้องรับผิดชอบสังคมส่วนรวม ดังนั้น นักวิชาการจะมาถูกสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ มันอยู่ที่การศึกษา การศึกษาคือการแสวงหาสัจธรรมและการค้นพบ โดยประธานสปท.ยืนยันว่านี่คือจุดยืน และย้ำด้วยว่าเพราะจุดยืนเช่นนี้จึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

หวังว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อตามนั้น โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์และนักกฎหมาย เพราะทุกคนย่อมรู้ดีว่า การยกเอาโซเครติสมากล่าวอ้างนั้น นั่นหมายความว่า คนคนนั้นจะต้องมุ่งมั่น จริงจัง เนื่องจากแนวทางของโซเครติสในทางประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมืองมีความสำคัญคือ เป็นผู้ที่ยอมตายเพื่อรักษากฎหมาย แม้ถูกลงโทษตัดสินประหารชีวิตจากข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผล ก็ยินดีจะถูกประหารชีวิตโดยไม่หนีและไม่หวาดหวั่น

ถ้าประธานสปท.จะเดินตามแนวทางนี้จริง คงต้องทำเป็นหูทวนลมเหมือนไม่เคยได้ยินได้เห็นสิ่งที่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ส่งจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะแนวทางดังว่านั้นมันสุดโต่งอย่างยิ่ง การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่เคยกระทำผิดนั้น เชื่อว่านักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์ในโลกประชาธิปไตยไม่สมควรกระทำ

ขณะที่บิ๊กตู่บอกเห็นจดหมายดังกล่าวแล้ว และได้ส่งต่อไปให้กรธ.พิจารณา เพราะมีการเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกด้านอยู่แล้ว แต่ท่านผู้นำยามนี้รู้สึกว่าไม่อยากที่จะพูดอะไรมาก หลังจากวันก่อนมอบหมายให้ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลตั้งโต๊ะชี้แจงกับนักข่าว ท่านผู้นำทำงานทุกวันแต่ไม่จำเป็นต้องให้สัมภาษณ์ทุกวัน

พร้อมๆ กับการยกเหตุผล บางประเด็นเหมือนเป็นการถามนำหรือย้ำให้เกิดการขยายผลความขัดแย้ง ความจริงก็ดีเหมือนกัน หากท่านทำได้จะหยุดไปสักเดือนสองเดือนน่าจะเป็นผลดีอยู่ไม่น้อย เนื่องจากหลายเรื่องไม่จำเป็นต้องแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือของขึ้น บางเรื่องยังถูกมองเป็นการชี้นำเสียด้วยซ้ำไป ในภาวะที่ต้องการความร่วมมือเพื่อสร้างปรองดองต้องรู้จักฟังมากกว่าพล่าม สิ่งสำคัญหลายคนคงต้องเลิกนิสัยชี้นิ้วแล้วทุกคนต้องทำตาม เพราะเวลานี้หัวโขนที่สวมไม่ใช่ผู้นำกองทัพแต่เป็นผู้บริหารประเทศ

วาทกรรมที่คนในองคาพยพแม่น้ำ 5 สายบอกต่อๆ กันมา หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังดำเนินการอยู่จะเป็นการหยุดรัฐประหารและเชื่อว่าการยึดอำนาจของคสช.หนนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยคงไม่มีใครเชื่ออย่างนั้น นับตั้งแต่ยุคของรสช.ปี 2534 ก็บอกว่าจะเป็นอย่างนั้น กระทั่งมีการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540

แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นวังวนเดิมมีคมช.และต่อด้วยคสช. ในห้วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 8 ปี อย่างที่ นันทวัฒน์ บรมานันทน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯว่าไว้ บางเรื่องที่กฎหมายแก้ไขได้ แต่พฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายแก้ไม่ได้ เรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารยึดอำนาจหลายหนมาก เห็นอะไรไม่ถูกต้องทหารต้องเข้ามาแก้ปัญหาจนเป็นวัฒนธรรมของประเทศไปแล้ว

จุดใหญ่ใจความคือ การรัฐประหารทุกครั้ง แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่มองไม่ออกว่าปัญหาของประเทศที่แท้จริงอยู่ตรงไหน การรัฐประหารปี 2549 บอกนักการเมืองทุจริต คอร์รัปชั่น มีการตั้งคตส.ขึ้นมาตรวจสอบ ชี้แจงผ่านโทรทัศน์และวิทยุแทบจะเป็นรายวัน มาจนถึงวันนี้อยากถามว่าเรื่องเหล่านั้นจบหรือยัง ป.ป.ช.ที่มาสานงานต่อยังตอบไม่ได้

ถ้าจะบอกว่าปัญหาของประเทศที่ทำให้เกิดการรัฐประหารคือ นักการเมืองใช้อำนาจโดยมิชอบ มีปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้าย การทุจริตคอร์รัปชั่น ถามว่า แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อเนื่องถึง 2550 ไม่ได้มีการแก้ไขตรงจุดนั้นหรืออย่างไร โดยเฉพาะกรณีของป.ป.ช.ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้การทำงานของป.ป.ช.เข้มข้นขึ้น

จึงเกิดปุจฉาต่อมาว่า ขนาดนี้แล้วยังไม่พออีกหรือ การยึดอำนาจของคสช.หนนี้ ก็อ้างปัญหาคนทะเลาะกัน พยายามโยงเรื่องความเหลื่อมล้ำ จนทำให้นักวิชาการแผ่นเสียงตกร่องเสนอความเห็นกันมากมาย แต่ก็ยังมองไม่เห็นแนวทางที่จะแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงข้าม หลายๆ ข้อเสนอกลับดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักข้อขึ้นเสียด้วยซ้ำไป

เห็นสมาคมวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ เรียกร้องเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของใครแม้กระทั่งเจ้าของกิจการ ฟังแล้วดูดี แต่ข้อเท็จจริงคือทำไม่ได้ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการนั่นแหละตัวดีที่ทำตัวเป็นทาสรับใช้ผู้มีอำนาจ คอยเชลียร์เอาอกเอาใจสารพัด มีสื่อสำนักไหนบ้างคงไม่ต้องให้ชี้นิ้ว ถ้าหัวใจเป็นธรรมจริงก็รู้ว่าพวกไหนที่ทำตัวเป็นบ่าง สามานย์ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ยังไม่ทิ้งสันดานเดิม

Back to top button