สนิมเหล็ก SSI แพร่พิษ พลวัต2015
ผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ออกมาแล้ว มีกำไรลดลงมากเกินคาดเล็กน้อย คือ ลดไปจากระยะเดียวกันปีก่อนถึง 32% เหลือเพียง จำนวน 9,018 ล้านบาท จากที่เคยทำกำไรได้เฉลี่ยระดับ 12,000-13,000 ล้านบาทมาหลายไตรมาสติดต่อกัน
ผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ออกมาแล้ว มีกำไรลดลงมากเกินคาดเล็กน้อย คือ ลดไปจากระยะเดียวกันปีก่อนถึง 32% เหลือเพียง จำนวน 9,018 ล้านบาท จากที่เคยทำกำไรได้เฉลี่ยระดับ 12,000-13,000 ล้านบาทมาหลายไตรมาสติดต่อกัน
ธนาคารยอมรับว่า ผลกำไรที่ลดลงมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรองรับผลกระทบจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 2 ราย คือ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) และ บริษัทลูกในประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ระหว่างการพิทักษ์ทรัพย์ คือบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ประเทศอังกฤษ (SSI-UK) ซึ่งถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากการปรับรายการดอกเบี้ยค้างรับที่รับรู้เป็นรายได้แล้วจากลูกค้าทั้งสองรายดังกล่าว
สะท้อนว่าพิษสนิมเหล็กของ SSI นั้น ส่งผลสะเทือนรุนแรงที่ชัดเจน
โชคยังดีที่ธนาคารสามารถจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ให้กำไรเลวร้ายมากเกิน ด้วยการขายหุ้นสามัญในพอร์ตการลงทุนของธนาคารได้กำไรจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการขายหุ้นปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง SCB และ SCC ซึ่งราคาที่ซื้อขายกันนั้น เป็นที่รู้กันว่า เป็น “ราคาโอบอุ้ม”
การที่ SCB จำต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาซื้อหุ้น SCC ในราคาแพงกว่าตลาดหลายสิบบาทต่อหุ้น เพื่อหาเงิน 4.47 พันล้านบาทไปตั้งสำรองพิเศษจากหนี้สูญของ SSI ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ สร้างปริศนาให้คนตั้งคำถามว่า ทำไมสำนักงานทรัพย์สินฯจึงยอมซื้อหุ้นในราคาขาดทุนอย่างนั้นได้ยังไงกัน ยังไม่ได้สิ้นสุดความท้าทาย เพราะโดยข้อเท็จจริง ผลพวงยังลุกลามไปไกลกว่าแค่กำไรลด
ผู้บริหาร SCB ยอมรับว่า การผิดนัดชำระหนี้ และ การปิดตัวลงของ SSI-UK แล้วต้องเข้าไปอยู่ภายใต้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทำให้ SSI-UK กลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ และหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถูกกำหนดมูลค่าเป็นศูนย์ด้วย
ผลสะเทือนของ SSI-UK ทำให้ SSI ที่ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ต้องร่วมรับผิดชอบการชำระหนี้ และทำให้มูลค่าของหลักประกันลดลง ธนาคารจึงตัดสินใจที่จะตั้งสำรองเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ เป็นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกรณีของ SSI และ SSI-UK ไว้ทั้งหมด เพิ่มเติมจากเงินสำรองปกติจำนวน 5 พันล้านบาท ที่ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ไตรมาสนี้ ธนาคารมีจำนวนเงินสำรองเพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 400% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2557 จำนวน 3,222 ล้านบาท
การที่ SSI และ SSI-UK ถูกจัดเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ มีผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 3.02% เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2558 จากเดิม 2.11% เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2557 และ 2.22% เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และเนื่องจากสินเชื่อของ SSI-UK ได้รับการตั้งสำรองเอาไว้ทั้งหมดโดยกำหนดมูลค่าหลักประกันเป็นศูนย์ ธนาคารจึงทำการจำหน่ายหนี้สูญลูกหนี้รายนี้ทั้งหมด เมื่อสิ้นเดือนกันยายน
ผลพวงต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ทำให้ระดับสำรองเพื่อการรองรับหนี้ด้อยคุณภาพโดยไม่รวมหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Coverage Ratio) ลดลงจาก 140.4% เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2557 และ 134.8% เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ลดฮวบลงมาเหลือเพียง 100.8% สิ้นเดือนกันยายน 2558
สัดส่วนสำรองหลังสุดนี้ของ SCB ถือว่า ต่ำเป็นอันสองรองลงมาจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งรับผลกระทบจากพิษสนิมเหล็กของ SSI ไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ สัดส่วนสำรองที่ถดถอยนี้ จะรบกวนความสามารถในการปล่อยสินเชื่อและทำกำไรของธนาคารใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้าอย่างรุนแรง เพราะหากว่าต้องการปล่อยสินเชื่อมาก จะต้องเพิ่มการตั้งสำรองพิเศษที่ทำให้กำไรลดฮวบ และหากไม่อยากตั้งสำรองมาก ก็ต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อ
แรงกดดันจากพิษสนิมเหล็ก จึงถือว่าล้ำลึกเสมือนบาดแผลเรื้อรัง ทำให้คำกล่าวของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร อาทิตย์ นันทวิทยา ที่ว่า “ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองเต็มจำนวนเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ของ SSI ซึ่งเห็นว่าเป็นหลักการที่รอบคอบและระมัดระวังอย่างดีที่สุด” จึงเป็นแค่ “มะนาวหวาน” ตามธรรมดา เพื่อปลอบโยนตนเอง
ข้อสังเกตจากการแถลงผลประกอบการของ SCB ในครั้งนี้อยู่ที่ว่า ผู้บริหารของธนาคาร ยังไม่ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อให้ SSI และ SSI-UK มีความบกพร่องในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของโครงการโรงงานเหล็กในต่างประเทศ ได้แต่กล่าวโทษสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ แต่ละเลยที่จะพูดถึงปัจจัยที่ควบคุมได้ทั้งหลาย
โดยเฉพาะเรื่องของการกระจุกตัวของความเสี่ยงเครดิต ดังจะเห็นได้ว่า สินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทนั้น ปล่อยกู้กันแค่ 3 ธนาคารพาณิชย์ไทย โดยไม่มีเจ้าหนี้ร่วม ทั้งต่างประเทศและในประเทศอื่นๆ เพื่อให้ลูกหนี้เอาไปซื้อโรงงานเหล็กที่เก่าแก่คร่ำคร่า มีอายุเกินกว่า 100 ปี และมีประสบการณ์ขาดทุนหลายครั้ง เปลี่ยนมือเจ้าของมากกว่า 15 หน แล้วก็ประสบปัญหาจะขาดทุนจนต้องปิดกิจการภายใน 3 ปี หลังเปิดดำเนินการรอบใหม่
โจทย์ที่น่าสนใจก็คือ การปล่อยสินเชื่อเมื่อหลายปีก่อน ได้กระทำในลักษณะที่ ธนาคารทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาการเงิน และผู้ปล่อยสินเชื่อ เรียกว่า ทำลายกำแพงป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือ Chinese Wall อย่างชัดเจน
ธนาคารในฐานะที่ปรึกษาการเงินที่รอบคอบ สมควรรู้ได้ชัดเจนว่า โรงเหล็กผลิตแท่งเหล็กแบน TCP ซึ่งปิดทำการไปนานหลายปี ในอังกฤษ หลังกลุ่มตาต้ากรุ๊ปของอินเดียเคยดำเนินการขาดทุนมาแล้ว มีความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินง่ายดายมาก
การเข้าซื้อโรงงานเหล็ก 1 ใน 2 รายของอังกฤษที่มีเทคโนโลยีล้าหลังกว่า 100 ปีแล้ว ในราคาถูกมากเพียงแค่ 500 ล้านดอลลาร์ เพราะเจ้าของเดิมยินดีขายทิ้ง โดยข้ออ้างสวยหรูว่า เป็นการลงทุนที่เหมาะ เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจเหล็กต้นน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ มาป้อนเป็นวัตถุดิบกับโรงงานรีดร้อนรีดเย็นของ SSI ในประเทศไทย และตลาดโลก โดยมองข้ามปัญหาค่าซ่อมบำรุงมโหฬารรออยู่ กลายเป็นต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่แพงมากอย่างที่ปรากฏ จะบอกแค่ว่าไม่ต้องรับผิดชอบจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ค่อนข้างจะหยาบเกินไป
คำปลอบโยนของ ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่SCB ที่ว่า มีความเชื่อมั่นว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันยังคงมีพื้นฐานที่ดี และหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ตามเป้าหมายในอนาคต จึงเป็นคำปลอบโยนที่ควรตั้งคำถามพอสมควร
เหตุผลก็เพราะ โดยข้อเท็จจริงทางพฤติกรรมการฟื้นฟูกิจการของ SSI ที่อยู่ในขั้นตอนของศาลล้มละลายกลางขณะนี้ ดูเหมือนว่า เจ้าหนี้ร่วมทั้ง 3 ราย ยอมศิโรราบกับลูกหนี้ในลักษณะที่ผ่อนปรนมาก ภายใต้หลักการที่รู้จักกันดีในแวดวงนักการเงินคือ ลูกหนี้ดังกล่าว “ใหญ่ก่อนกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม” หรือ too big to be failed
นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นของ SCB คงจะฝากความหวังกับอนาคตภายใต้ผู้บริหารชุดนี้ ยากขึ้นกว่าเดิม