ข้อมูลที่ขัดความรู้สึก
ผลที่ตามมาจากการระบาดทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย และชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและการอุดหนุนไม่ถูกที่ของรัฐบาลต่าง ๆ
ดังที่รู้จากข่าว และบางคนอาจจะประสบพบพานวิกฤติที่เกิดจากไวรัสโคโรนาด้วยตนเอง ผลที่ตามมาจากการระบาดทำให้ความเป็นอยู่และชีวิตของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงมากมาย แต่กลับมีข้อมูลสองเรื่องที่ได้อ่านพบแล้ว มันขัดกับความรู้สึกเป็นอันมาก และชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและการอุดหนุนไม่ถูกที่ของรัฐบาลต่าง ๆ
ข้อมูลแรกคือ การระบาดของโควิดได้กลายเป็นยุคทองแห่งความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี และข้อมูลที่สองคือ รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงซื้ออาวุธแม้โควิดระบาด ซึ่งช่วยให้บริษัทผลิตอาวุธชั้นนำของโลก ยังคงมีกำไรและฝ่าฟันวิกฤติโควิดได้แม้ว่าการเติบโตของกำไรจะลดลงไปบ้าง
ข้อมูลแรกมาจาก โกลบัล อินอีควิตี้ แล็บ ในปารีส ซึ่งระบุว่า ส่วนแบ่งความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด โดยมหาเศรษฐีที่มีอยู่ประมาณ 2,750 คน กุมความมั่งคั่งของโลกไว้ราว 3.5% ซึ่งเพิ่มขึ้น 1% จากปี 2538 และเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่การระบาดเริ่มส่งผลกระทบ ในทางตรงกันข้าม ครึ่งหนึ่งของประชากรในโลกที่ยากจนสุด กุมความมั่งคั่งประมาณ 2% เท่านั้น
ผลการศึกษานี้ยิ่งทำให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่มันรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤติสาธารณสุขที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกำลังพัฒนา โดยยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และภายในเศรษฐกิจที่ร่ำรวยก็เช่นกัน การปรับตัวขึ้นของตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ นับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยภายในประเทศห่างกันมากขึ้น
รายงานยังระบุว่า แนวโน้มที่เกิดจากการระบาดเช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อคนชั้นบนมานานหลายทศวรรษ เพราะคาดว่า มันจะช่วยให้เศรษฐกิจไหลริน แล้วทุกคนจะได้รับประโยชย์ด้วยในที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงโลกเรามีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดการระบาด มหาเศรษฐีมีสินทรัพย์รวมกัน 4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงวิกฤติ ในขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า มีคนราว 100 ล้านคนตกเข้าสู่ความยากจนอย่างรุนแรง
ในส่วนใหญ่ของโลก คนรวย 10% กุมความมั่งคั่งประมาณ 60-80% แต่มีความแตกต่างกันตามภูมิภาคอย่างชัดเจน และโดยรวมแล้ว ประเทศที่ยากจนกำลังมีความเหลื่อมล้ำไล่ตามประเทศที่ร่ำรวยกว่า ในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยในขณะนี้ความเหลื่อมล้ำในประเทศเดียวกัน มีสัดส่วนมากกว่าสองในสามของความเหลื่อมล้ำทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากที่มีประมาณครึ่งหนึ่งในปี 2543
ลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในโลก โดยมากกว่า 75% ของความมั่งคั่งอยู่ในมือของคนรวยที่มีอยู่ราว 10% รัสเซียและประเทศในแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา ก็มีความเหลื่อมล้ำมากตามมาไม่ห่างนัก ส่วนเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น อินเดีย พบว่า “ชนชั้นกลาง” ยังคงหายไปอย่างต่อเนื่อง และความไม่เท่าเทียมกันในยุคอาณานิคมถูกแทนที่ด้วยความไม่เท่าเทียมของตลาด
ช่องว่างความมั่งคั่งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นได้จากการปล่อยคาร์บอนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในอเมริกาเหนือ 10% แรกปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 73 เมตริกตันต่อหัวในแต่ละปี เทียบกับที่น้อยกว่า 10 ตันสำหรับครึ่งหนึ่งของคนยากจนสุด และเมื่อวัดจากทั้งรายได้และความมั่งคั่งแล้ว ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีความเท่าเทียมกันมากที่สุด โดยคนยากจนสุดครึ่งหนึ่งในยุโรปมีรายได้ทั้งหมด 19% ซึ่งสูงกว่าในที่อื่น ๆ
ข้อมูลที่ฟังแล้วรู้สึกขัดใจเรื่องที่สอง มาจากรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งชี้ว่า รัฐบาลทั่วโลกยังคงซื้ออาวุธในช่วงที่เกิดการระบาด และบางประทศยังออกมาตรการไปช่วยบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่ของประเทศด้วย ดังนั้นจึงช่วยให้บริษัทอาวุธรายใหญ่สุดของโลกส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิดและมีกำไรโตเป็นปีที่หกติดต่อกันในปีที่ผ่านมา
ในบรรดาบริษัทผลิตอาวุธชั้นนำ 100 แห่ง กำไรในปีที่ผ่านมา เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 1.3% เป็น 531,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวมากกว่า 3% โดยบริษัท 5 อันดับแรกทั้งหมดมาจากสหรัฐฯ
ล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งผลิตเครื่องบินขับไล่ F-35 และขีปนาวุธหลายประเภท มียอดขายมาเป็นที่หนึ่ง โดยมีมูลค่า 58,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ บริษัท BAE Systems ของอังกฤษ ซึ่งมียอดขายอันดับ 6 ของโลก ทำกำไรสูงสุดในยุโรป นำหน้าบริษัทอาวุธจีนเพียง 3 แห่ง
ในบรรดาประเทศที่ผลิตอาวุธชั้นนำ มีเพียงฝรั่งเศสและรัสเซียเท่านั้นที่ยอดขายของบริษัทผลิตอาวุธลดลงในปีที่ผ่านมา
รายงานของ SIPRI ชี้ว่า ผู้ผลิตอาวุธส่วนใหญ่รอดพ้นจากวิกฤติได้เพราะรัฐบาลยังคงมีความต้องการบริการและสินค้าด้านการทหาร และบริษัทอาวุธยังได้ประโยชน์จากการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่เศรษฐกิจ และจากมาตรการพิเศษเพื่อช่วยบริษัทอาวุธ เช่น เร่งการชำระเงิน หรือ กำหนดเวลาในการสั่งซื้อ
เนื่องจากสัญญาด้านการทหารมักใช้เวลาหลายปี บริษัทอาวุธจึงสามารถทำกำไรได้ก่อนที่วิกฤติสุขภาพจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยเหล่านี้และปัจจัยอื่น ๆ การผลิตอาวุธทั่วโลกก็ไม่สามารถป้องกันผลกระทบจากการระบาดได้อย่างเต็มที่ โดยอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นได้ลดลงอย่างยั่งยืนในช่วงปี 2552-2563 และมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ก็ได้ขัดขวางห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาวุธ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วเศรษฐกิจในวงกว้าง
เชื่อว่า ในความรู้สึกของคนทั่วไป ข้อมูลสองเรื่องนี้น่าจะสร้างความขัดใจ และงุนงงไม่น้อย เพราะว่า ในอีกด้านหนึ่งมันมีข้อมูลออกมามากมายในช่วงสองปีที่โควิดเกิดขึ้นที่ชี้ถึง ความเสียหาย ความสูญเสีย การสิ้นเนื้อประดาตัว ความทุกข์ ความเศร้า ความคับแค้นใจ และความสิ้นหวัง เกิดขึ้นเต็มไปหมด
ข้อมูลสองเรื่องนี้ ชวนให้นึกถึงคำพูดที่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยบอกให้จำไว้เสมอว่า “Life is unfair” โควิดยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า “ชีวิตมันไม่ยุติธรรม” จริง ๆ