พาราสาวะถี
การขอเติมเต็มกำลังใจ ขอความร่วมมือ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ทางด้ามขวาน ถือเป็นการเรียกความมั่นใจและทดสอบกระแสของตัวเองและรัฐบาลเรือเหล็กไปในตัว
เป็นพื้นที่ที่ไปแล้วเกิดความรู้สึกสบายใจ ไร้กังวล เหมือนพบปะได้เจอคนกันเอง กับการที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไปพูดน้ำไหลไฟดับที่จังหวัดยะลา หลังเดินทางลงพื้นที่ยะลากับปัตตานี สิ่งที่ออดอ้อนก็ยังเป็นเรื่องเดิม ๆ การขอเติมเต็มกำลังใจ ขอความร่วมมือ จับมือกับรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่ทางด้ามขวาน ถือเป็นการเรียกความมั่นใจและทดสอบกระแสของตัวเองและรัฐบาลเรือเหล็กไปในตัว
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการปราบปรามผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ก่อนที่ม็อบจะหวนกลับคืนมาปักหลักขอคำตอบ และที่ประชุมครม.ก็สั่งชะลอโครงการอุตสาหกรรมจะนะออกไปก่อน เพื่อรอการทำประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการหรือ SEA เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ซึ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็อ้างกับคนยะลาที่มารอต้อนรับว่า ทั้งหมดต้องฟังความเห็นของประชาชนก่อน เพราะถ้าไม่ยอมรับต่อให้โครงการดีแค่ไหนก็เกิดขึ้นไม่ได้ “เราต้องเคารพเสียงประชาชน”
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำเผด็จการยังละล่ำละลักชี้แจงอีกว่า รัฐบาลได้จัดรถส่งพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกลับไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อพี่น้องทุกคนจะได้ปลอดภัย ยืนยันว่าเข้าใจกันแล้ว หลายเรื่องเกิดขึ้นมา ทุกคนคงทราบดีว่าระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยืนยันว่าทุกอย่างคลี่คลายลงแล้ว สิ่งที่แสดงออกเป็นการยอมรับว่า การตัดสินใจใช้กำลังสลายม็อบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมานั้นคือความผิดพลาด จึงต้องแก้ต่างแก้ตัวกันพัลวัน
การกระทำเช่นนี้มันทำให้เห็นว่าเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นเล่นเกมตีสองหน้าได้เก่งขนาดไหน ขณะเดียวกัน จากประเด็นการสลายม็อบและการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีการอ้างข้อตกลงกับ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมาตีกันไม่ให้นักข่าวได้ทำงานในสนามในวันเกิดเหตุได้ ทว่าความรู้สึกขององค์กรวิชาชีพก็ช่างช้าเสียนี่กระไร เพราะหลังเกิดเหตุไปแล้วร่วมสัปดาห์ 2 สมาคมวิชาชีพเพิ่งทำจดหมายถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เรียกร้องขออย่าปิดกั้น ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้สื่อไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์การชุมนุม ก่อนที่จะขู่ส่งท้ายเป็นพิธีว่าหากตำรวจละเมิดหรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง อาจฟ้องร้องตามช่องทางในกระบวนการยุติธรรม เป็นอะไรที่ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย จึงไม่แปลกใจที่ยิ่งนานวันสังคมเริ่มตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมืออาชีพทั้งหลายว่า ยังคงยึดหลักการจรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างเข้มข้นกันอยู่หรือไม่
สถานการณ์ของการถูกคุกคามจากอำนาจรัฐนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ชัดเจนอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่ประชาชนฝ่ายเห็นต่างเท่านั้น แม้แต่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็ถูกกระทำเช่นกัน แต่กลับไม่ได้รู้สึกรู้สาหรือปกป้อง เรียกร้องต่อการถูกละเมิดดังกล่าวอย่างที่ควรจะเป็น พอได้อ่านความเห็นของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับประเด็นที่ว่า “ดูหมิ่นและด้อยค่าประชาชน” ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการปกป้องเรื่องดังกล่าว
อรรถจักร์ชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีและกลไกอำนาจรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ปราบปราม จับกุมประชาชนที่ชุมนุมตามสิทธิพลเมืองของระบอบประชาธิปไตยที่โลก ประเทศทั่วไปได้ตระหนักและยอมรับ ได้กระทำการดูหมิ่นและด้อยค่าประชาชนพลเมืองอย่างถึงที่สุด ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางในระดับที่ไม่สมควร หรือกระชากลากพลเมืองอย่างไม่ปราณีปราศรัยไม่ได้รับการลงโทษเพราะได้รับคำสั่งเพียงแค่ว่าจัดการให้ทุกอย่างสงบลงได้
คนที่สั่งไม่ได้ตระหนักและยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นประชาชนพลเมืองเลยแม้แต่น้อย การชุมนุมของพี่น้องจากจะนะเพื่อทวงถามถึงข้อตกลงในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่คนในรัฐบาลรับปากว่าจะจัดการให้กลับถูกสลายการชุมนุม การชุมนุมแสดงการไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่อุดรธานีก็ถูกกระชากลากถูไปจากพื้นที่ เสียงกรีดร้องของพี่น้องประชาชนที่ถูกกระทำไม่ได้กระทบต่อโสตประสาท และ “มโนธรรม” ของนายกรัฐมนตรีและบุคคลในเครื่องแบบเลยแม้แต่น้อย
การจับกุมคุมขังและไม่ยอมให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายประเทศอารยทั้งหลาย การส่งเสริมให้มีส่วนของหน่วยราชการสร้างกระแสปลอม ๆ ในโลกโซเชียลเพื่อที่จะลดทอนเสียงของประชนพลเมือง การคุกคามคนที่เห็นต่างและพูดตามที่ตนเองคิดเกิดขึ้นมาโดยตลอด นายกรัฐมนตรีและกลไกอำนาจรัฐ อำนาจเหนือรัฐทุกด้านทุกมิติได้ร่วมกันกระทำการดูหมิ่นและด้อยค่าประชาชนมาโดยตลอด
คำถามสำคัญคือ กระบวนการการด้อยค่าและดูหมิ่นประชาชนที่ดำเนินมาจะยุติได้อย่างไร และเมื่อใด ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของสังคมในประเด็นเรื่องความเชื่อถือหรือ trust ซึ่งเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ในปัจจุบัน ความเชื่อถือในกลไกอำนาจรัฐและตัวนายกรัฐมนตรีเสื่อมทรุดลงอย่างทบทวีคูณ แน่นอน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับม็อบเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและการออดอ้อนกับคนยะลาเป็นเครื่องพิสูจน์
แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคทางโอกาส แต่ก็คงฉลาดพอที่ว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วก็รู้ว่าจะต้องเลือกทางยุบสภา และกำหนดการเลือกตั้งในไม่นานเพื่อลดทอนกระแสการลุกฮือโดยไม่ได้มีกำหนดหมาย หรือ spontaneous uprising ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ จังหวะที่รอประกาศยุบสภาก็คือการรอให้การซื้อเสียงผ่านระบบเงินความช่วยเหลือหลากรูปแบบ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเสียก่อน โดยหวังว่าจะลดทอนความรู้สึกของประชาชนที่ถูกดูหมิ่นและด้อยค่า ให้หันกลับมาสู่วิถีการยอมรับในฐานะผู้โน้มกายลงไปให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก น่าสนใจว่ายุทธวิธีที่ใช้จะได้ผลหรือไม่