ยูนิคอร์น กับก้าวย่างใหม่
วิธีการเพิ่มมูลค่าของกิจการเป็นกระแสของบริษัทจดทะเบียนในยามนี้ ที่ดูดีและอาจจะดีเกินไปคือการประกาศ ว่าจะเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
วิธีการเพิ่มมูลค่าของกิจการหนึ่งที่เริ่มทำกันหนาตาจนกลายเป็นกระแสหรือแฟชั่นอย่างหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนในหลายประเทศยามนี้ ที่ดูดีและอาจจะดีเกินไปคือการประกาศ ว่าจะเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือตลาดคริปโตด้วยการออก ICO ใหม่
ไม่รู้ว่าเพราะรู้จริงหรือเพราะเห็นใคร ๆ “ก็ทำกัน” ในฐานะเป็นแหล่งระดมทุนใหม่ ๆ ที่ใครก็ไม่อยากตกขบวนแถวของความโลภ
ตัวอย่างที่เห็นชัดเลยทันควันคือบริษัท BROOKER ที่มีหัวเรือใหญ่ชื่อชาญ บุลกุลหรือ มา ชาน ลี เป็นบริษัทที่นำเงินก้อนแรก 500 ล้านบาท ไปลงทุนในตลาดดิจิทัล แล้วผลลัพธ์คือไตรมาสสามของปีนี้ ก็บันทึกกำไรสุทธิเพิ่มพรวดน่าตกใจ จนราคาหุ้นและวอร์แรนต์ ราคาพุ่งเป็นจรวดยามนี้ จนต้องขออนุมัติในการประชุมวิสามัญที่จะมีขึ้นปลายเดือนนี้เพื่อเอาเงินหน้าตักก้อนใหญ่กว่าเดิมไปลงอีก 2 พันล้านบาท
ในขณะที่กลุ่มเจมาร์ท ที่ออก JFin Coin เป็นรายแรกของไทย แม้จะไม่หวือหวามาก แต่ก็มีรายได้และกำไรสวยงามต่อเนื่อง ทำนิวไฮทุกไตรมาส ทำให้ราคาพุ่งแรงล่าสุดนักวิเคราะห์คาดว่าราคาของ JMART น่าจะพุ่งขึ้นไปเหนือ 50 บาทอย่างแข็งแกร่ง
ปรากฏการณ์ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” หรือโหนกระแสอย่างนี้เข้าใจกันได้ว่า กระบวนการ ทำให้เป็นดิจิทัล จะทำให้มูลค่าของกิจการโป่งพองขยายตัวขึ้นหลายเท่าตัว มีเสน่ห์เร้าใจผู้บริหารบริษัทมากมาย
ประเด็นนี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เรียกว่าเป็นการได้ “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่มาเลี้ยงเอาไว้ในคอก เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวสามารถกำหนดตัวตนชัดเจน ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันถูกเก็บรักษาไว้ได้โดยไม่มีการเสื่อมเสียและแทบไม่มีค่าใช้จ่ายในคอมพิวเตอร์หรือใน “คลาวด์” สามารถซื้อขายและโอนได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะเป็น “ทรัพย์สินในฝันที่มีค่า” ที่เริ่มทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว
ยักษ์ธุรกิจโลกพากันเคลื่อนตัวเข้า สู่ “เมตาเวอร์ส” (ตามที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเรียก) ที่สามารถเอาคอนโดทั้งหลังหรือสินทรัพย์อื่น ๆ แปลงเป็น “เหรียญดิจิทัล” แล้วเอาไปซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เอารูปวาดของศิลปินไปทำเป็นดิจิทัลและสามารถจะขายได้ และข่าวบริษัทไนกี้เอายี่ห้อรองเท้าของตนเองไป “จดทะเบียน” ไว้ในเมตาเวอร์สแล้วเพราะอาจจะเกรงว่าในอนาคตถ้าคนเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนมาก ๆ และพวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีรองเท้าใส่ ไนกี้จะได้ขาย “รองเท้าไนกี้เสมือน” ได้เป็นกอบเป็นกำ
คำถามก็คือ โลกในอนาคตนี้ จะสร้างผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยงเลยแบบธุรกิจบน “ทะเลสีคราม” เชียวหรือ หรือว่ายูนิคอร์นแห่งยุคดิจิทัลอาจจะนำไปสู่ฟองสบู่ของราคาได้เร็วและง่ายดายขึ้น
คำถามคือตอบไม่ได้ง่าย ๆ เพราะบางครั้งอาจจะเข้าข่ายแบบ “แชร์ลูกโซ่” ก็ได้
ทั้งนี้ เพราะ ยูนิคอร์น สัตว์ในตำนานที่ไม่เคยมีตัวตนจริง ๆ แต่เกิดจากจินตนาการที่มีลักษณะคล้ายม้าหรือแพะที่มีเขา เพียงอันเดียวโดดเด่นบนหน้าผาก คล้ายกับแรด ซึ่งที่เขาของมันนั้นหากผ่าออกมา จะมีน้ำอมฤตที่มีสารพัดประโยชน์
ยูนิคอร์นปรากฏในงานศิลปะเมโสโปเตเมียยุคแรก ๆ และมันถูกอ้างถึงในตำนานโบราณของอินเดียและจีนด้วย คำอธิบายแรกสุดในวรรณคดีกรีกช่วง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เล่าว่าเป็น ลาป่าอินเดียหรือแรดอินเดีย มีขนาดเท่าม้า ตัวเป็นสีขาว หัวสีม่วง ตาสีฟ้า และบนหน้าผากมีเขายาวศอกสีแดงที่ปลายแหลม สีดำอยู่ตรงกลาง และสีขาวที่โคน ผู้ที่ดื่มจากเขาของมันคิดว่าจะได้รับการปกป้องจากปัญหาในกระเพาะอาหาร โรคลมบ้าหมู และยาพิษ มันมีฝีเท้าที่ว่องไวมากและยากที่จะจับ
นอกเหนือจากนั้น บริษัทการเงินหลายแห่งอย่างธุรกิจหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ ก็ยังจุดประกายเสมือนหนึ่งว่าการเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโอกาสที่ต้องเร่งมือ
ตัวอย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ประกาศเปลี่ยนโครงสร้างเตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการใหญ่ด้วยการเตรียมผลักดันให้เปลี่ยนรายชื่อของธนาคาร SCB เพื่อเอาบริษัทโฮลดิ้งใหม่คือ SCBX มาแทนที่เพื่อเข้าสู่การแข่งขันสร้างโอกาสในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วก็จัดการ “ต้อนหมูเข้าเล้า” ด้วยการควบรวมกิจการที่ให้บริการทางการเงินในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาไว้ใต้ร่มธง และสร้างพันธมิตรกับค่ายอื่นอย่างธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อหาทางสร้างธุรกรรมในอนาคต
ตัวอย่างของการประกาศว่า SCBX เข้าซื้อหุ้นบิทคับออนไลน์จำนวน 51% ด้วยเงิน 17,850 ล้านบาท เพื่อแสดงว่า “เอาจริง” กับการมุ่งหน้าไปสู่ “โลกใหม่” เพราะการที่ บิทคับออนไลน์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้มีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ในช่วง 9 เดือนของปีนี้คิดเป็นเงินระดับ 1 ล้านล้านบาท มีรายได้ 3-4 พันล้านบาท และกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลประกอบการที่เด่นมาก …นอกเหนือจากการตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มซีพี.เพื่อลงทุนทำกองทุนร่วมเสี่ยงในการเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว
นอกจากนั้นการขยับตัวของกลุ่ม XPG และ FSS ที่จะเพิ่มแหล่งรายได้ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก็บ่งชี้ว่าไม่มีใครที่อยาก “ตกขบวน” ของเส้นทางสายนี้
การขยับตัวเพื่อเข้าร่วมขบวนแถวสินทรัพย์ดิจิทัลของค่ายบันเทิงที่เริ่มฟื้นตัวจากการขาดทุนยาวนานกว่า 5 ปีมาแล้วอย่าง GRAMMY เพื่อเปิดตัวธุรกิจ NFT ซึ่งเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในการเปิดตัวธุรกิจ NFT ในช่วงไตรมาส แรกของปีหน้าเพื่อนำคอนเทนต์และสินค้าต่าง ๆ ของบริษัทมาเปลี่ยนสู่รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีการออกเป็น NFT ออกมา เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ใหม่ ๆ เข้ามาจากช่องทางดิจิทัลได้
ในการทดลองเข้าสู่ผลธุรกิจใหม่นี้ ทาง GRAMMY ค่อนข้างระวังและจะไม่เสี่ยงมากถึงขั้นลงทุนทำแพลตฟอร์มเองขึ้นมา แต่จะไปร่วมกับพันธมิตรที่ทำแพลตฟอร์ม Digital Asset อยู่แล้ว ซึ่งมีคุยหลายราย แน่นอนว่าบนเส้นทางเพื่อค้นหายูนิคอร์นใหม่นี้ ไม่ง่ายนัก
นอกเหนือจากความกล้าหาญแล้วยังมีรายละเอียดมากมายแบบที่มีคนว่าเอาไว้น่ะแหละว่า “พระเจ้า หรือซาตาน อยู่ในรายละเอียด” นั่นเอง
เหตุผลเพราะยูนิคอร์นนั้น จับได้ยากมากนั่นเอง