หนีแบงก์ ดิสรัปต์

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตโควิดปี 2563-2564 ผมว่าบทบาทธนาคารพาณิชย์ไทยใน “วิกฤตโควิด” น่าประทับใจกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นอันมาก


ในวิกฤตใหญ่ 2 ครั้งที่ประเทศไทยและคนไทยประสบ คือ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตโควิดปี 2563-2564 ผมว่าบทบาทธนาคารพาณิชย์ไทยใน “วิกฤตโควิด” น่าประทับใจกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นอันมาก

ต่างกันราวฟ้ากับดินเลยเชียวล่ะ

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ธุรกิจพังครืนทั้งประเทศ ธนาคารพาณิชย์ไม่สู้จะเห็นใจ “ลูกหนี้” สักเท่าไหร่ ยึดได้เป็นยึด ฟ้องได้เป็นฟ้อง หากลูกหนี้มีปัญหา

แต่ในมหาวิกฤตโควิดเที่ยวนี้  ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ใช้วิธีผ่อนปรนอะลุ่มอล่วยให้ลูกหนี้อย่างถึงที่สุด

ยกเลิก “กฎเหล็ก” จัดชั้นลูกหนี้ขาดชำระ 3 เดือนเป็นหนี้ NPL ลูกหนี้ที่มีปัญหา สามารถเดินเข้าแบงก์มาทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้

จะผ่อนหนี้ตามกำลังหรืออาจขอพักชำระชั่วคราว ก็ยังได้เลย ส่วนลูกหนี้ดี ก็ยังคงชำระหนี้ตามปกติไป เพราะคำว่า “หนี้” ไม่สูญสลาย ยังไงก็ต้องชำระไม่วันใดก็วันหนึ่ง กับอีกทางก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระแบงก์ เพื่อจะได้เอาไปช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้มีกำลังน้อยด้วย

ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ใช้ความมั่งคั่งสะสมของตนในอดีต มาผ่อนปรนให้ลูกหนี้ โดยการตั้งสำรองหนี้ในอัตราสูง ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งลดหายไปบ้าง

แต่ก็มีบทพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลาว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่รอดได้ และสามารถโอบอุ้มลูกหนี้ให้มีชีวิตรอดได้ในขณะเดียวกันด้วย

อนาคตข้างหน้าของแบงก์ ก็ยังมีความเสี่ยง…เสี่ยงที่จะถูกทำลายหรือดิสรัปชัน โดยเฉพาะการที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคปรับเปลี่ยนสู่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” และ “สินทรัพย์ดิจิทัล”

ถามว่า เลี่ยงอนาคตในเรื่องของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่เป็นมากกว่าธนาคารพาณิชย์ในอดีต และสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไหม ตอบได้เลยว่าคงเลี่ยงได้ลำบาก

หากปฏิเสธ ก็จะยิ่ง “หลุดโลก” เข้าไปใหญ่ เพราะโลกใบนี้กำลังหมุนจี๋ด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี เป็นบริษัทเทคและฟินเทคกันไปหมด

ข้อมูลจากเว็บไซต์คอยน์มาร์เก็ตแคป (CoinMarketCap) รายงานมูลค่าเงินคริปโตฯ ทั่วโลกขณะนี้ มีอยู่มากถึง 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากสกุลเงินคริปโตฯ 15,662 สกุล และซื้อขายกันตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณวันละ 1 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งสกุลเงินคริปโตฯ ที่ซื้อขายมากที่สุดก็คือ “บิตคอยน์” ครองสัดส่วนตลาดในราว 41.6%

มาร์เก็ตแคปเงินดิจิทัลทั่วโลก 2.2 ล้านเหรียญฯ สูงซะขนาดนี้ คิดเป็นเงินไทยก็อยู่ในราว 161 ล้านล้านบาท ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่คิดจะเข้าไปเป็น “ผู้เล่น” ด้วยได้อย่างไร

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และนายกสมาคมธนาคารไทย ยืนยันแบงก์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่กระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อการทำธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกดิสรัปชัน

สำหรับความเสี่ยง แบงก์ก็ต้องสำรองเอาไว้อยู่แล้ว เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัลคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

ธนาคารกรุงไทย ก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ก่อนหน้านี้ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และSCB ไทยพาณิชย์ ที่เปิดฉากสร้างบริษัทยานแม่เป็นเรือธง SCBX ก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทฟินเทค และร่วมมือร่วมทุนกับกลุ่มบิทคับ ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ธนาคารพาณิชย์รายอื่น ๆ คงจะเดินตามรอยปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลตามกันมา

บทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลาง ดูยังก้าวตามไม่ทันพัฒนาการธนาคารพาณิชย์สักเท่าไหร่นัก แต่ก็พยายามจะหามาตรการทางกฎหมายมาควบคุม โดยเฉพาะในเรื่องของ ”สินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งก็หวังว่าจะร่วมกับธนาคารเอกชนสร้าง “สินทรัพย์ดิจิทัล” ขึ้นมา

ไม่ใช่คิดแต่ว่าจะห้ามเอกชนนำเงินเหรียญดิจิทัลมาซื้อขายสินค้าและบริการท่าเดียว

Back to top button