ภาษีหุ้น คิดผิดคิดใหม่

“ภาษีหุ้น” ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีความพยายามมาพอสมควรที่จะเข้ามาจัดเก็บภาษีตรงนี้ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เรื่องของ “ภาษีหุ้น” ไม่ใช่เรื่องใหม่

กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีความพยายามมาพอสมควรที่จะเข้ามาจัดเก็บภาษีตรงนี้

ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์

ได้พยายามที่จะเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีจากตลาดหุ้นเช่นกัน

แต่ของสภาพัฒน์จะให้จัดเก็บในส่วนของ Capital Gain Tax

ไม่ใช่เก็บจาก “ทรานแซคชั่น” เช่น 0.01% ของยอดขาย 1 ล้านบาท (หรือถูกเก็บภาษี 1 พันบาท จากยอดขายหุ้น 1 ล้านบาท)

ไม่แน่ใจว่า การออกมาให้ข่าวครั้งล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังครั้งนี้

จะเป็นการโยนก้อนหินถามทางหรือไม่

เพราะทางคลังเอง น่าจะประเมินแล้วว่า น่าจะมีเสียงคัดค้านออกมาอย่างหนัก

แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ  สภาธุรกิจตลาดทุน นักวิชาการ นักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนสถาบัน

ต่างไม่เห็นด้วยที่จะให้จัดเก็บภาษีหุ้น

หรือหากจะจัดเก็บจริง ๆ

ควรจะให้เวลามากกว่านี้ เช่น ไปเริ่มต้นปี 2566 หรืออย่างเร็วสุดคือ 6 เดือน

ไม่ใช่พอคิดจะเก็บ ก็จะเริ่มดำเนินการทันที

ตลาดหุ้นจะพังเอา

ในปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) วอลุ่มเทรด หรือมูลค่าการซื้อขายต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท

ประเมินกันว่า หากมีการจัดเก็บภาษีหุ้น

วอลุ่มเทรดน่าจะลดลงพอสมควร

เหตุผลเพราะนักลงทุนน่าจะย้ายออกจากตลาดหุ้นไทยไปยังตลาดทุนอื่น ๆ ที่ดีดลูกคิดคำนวณแล้วว่า มีความคุ้มมากกว่า เช่น คริบโทเคอร์เรนซี

หรืออาจจะย้ายไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น จีน และเวียดนาม

เพราะปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นแบบข้ามประเทศไม่ใช่ยากเย็นอะไร

มีนักลงทุนรายย่อยเสนอเข้ามาเพิ่มว่า

หากรัฐบาลต้องการจัดเก็บจริง ๆ

ควรจัดเก็บจาก “กำไร” มากกว่า ที่จะมาจัดเก็บที่คิดต่อทรานแซคชั่น

เพราะการซื้อและขายของนักลงทุนในทรานแซคชั่นนั้น ๆ อาจจะขาดทุนก็ได้ แล้วยังต้องมาเสียภาษีอีก

หรือเท่ากับว่าจะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น

อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ทางคลังอาจจะมองว่า คนในตลาดหุ้นนั้น “รวย”

และพยายวามจัดเก็บภาษีจากคนรวยเหล่านี้

ซึ่งตามข้อเท็จจริง คนที่ซื้อขายหุ้นไม่ใช่คนรวย

ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ต่างเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกันมากขึ้น

ล่าสุด จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่การตลาด หรือมาร์เก็ตติ้งหลายคนที่คอยดูแลนักลงทุน ต่างบอกว่า กว่า 70-80% ของลูกค้าที่เขาดูแลอยู่ จะทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นเกินกว่า 1 ล้านบาท

นักลงทุนที่มีเงินในพอร์ตเพียง 5 หมื่นบาท ก็อาจจะทำธุรกรรมเทรดหุ้นเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือนได้

หากในวันหนึ่ง ๆ เข้าซื้อ-ขายหลายรอบ

ดังนั้น ข้อมูลที่ทางคลังบอกว่า นักลงทุน 85% ไม่ได้รับผลกระทบนั้น

ไม่น่าจะใช่

ไม่รู้ว่าทางคลังไปเอาข้อมูลมาจากไหน

Back to top button