พาราสาวะถีอรชุน

ฟังคำชี้แจงจาก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ซึ่งไปร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศหรือไอพียูที่กรุงเจนีวา โดยอ้างว่ามีการพยายามดำเนินการจากบุคคลผู้ไม่หวังดี เพื่อจะทำลายความน่าเชื่อถือประเทศเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งทางคณะผู้แทนสนช.ได้พยายามแก้ไขโดยชี้แจงกับผู้บริหารของไอพียูจนประสบความสำเร็จ และคงการรับรองสถานภาพของสนช.อย่างเต็มที่


ฟังคำชี้แจงจาก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ซึ่งไปร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศหรือไอพียูที่กรุงเจนีวา โดยอ้างว่ามีการพยายามดำเนินการจากบุคคลผู้ไม่หวังดี เพื่อจะทำลายความน่าเชื่อถือประเทศเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งทางคณะผู้แทนสนช.ได้พยายามแก้ไขโดยชี้แจงกับผู้บริหารของไอพียูจนประสบความสำเร็จ และคงการรับรองสถานภาพของสนช.อย่างเต็มที่

แต่ปรากฏว่า มาร์ติน จุนกอง เลขาธิการไอพียูกลับจี้ให้รัฐสภาไทย ตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลหรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ส่งเรื่องร้องเรียนว่า คสช.ได้ควบคุมตัว จาตุรนต์ ฉายแสง  พิชัย นริพทะพันธุ์ และ การุณ โหสกุล นักการเมืองพรรคเพื่อไทยไปปรับทัศนคติ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังบอกด้วยว่า ควรรายงานผลการศึกษามายังสหภาพรัฐสภา ก่อนที่คณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของสหภาพรัฐสภาจะประชุมกันในเดือนมกราคมปีหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตยสากลที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องบรรจุไว้ด้วย

อันได้แก่ ขอเสนอให้นำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและความโปร่งใส ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน แน่นอนว่า ท่าทีดังกล่าวสอดรับกับมติของที่ประชุมรัฐสภายุโรปก่อนหน้านี้ ที่ลงมติด้วยคะแนนเสียง 581 ต่อ 35 เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ยกเลิกการตัดสินความผิด ถอนฟ้องและปลดปล่อยบุคคลต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการสื่อสารมวลชนที่ถูกพิพากษาผิดหรือฟ้องร้องจากการใช้สิทธิของตนโดยสันติต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม

นั่นสะท้อนว่า สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ชี้แจงบวกกับสุรชัยไปอธิบายให้ไอพียูได้รับทราบ ต่างชาติยังไม่เข้าใจถึงมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเคารพตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดของไทยแต่อย่างใด ซึ่งก็เหมือนกับที่สื่อต่างประเทศได้นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาอย่างต่อเนื่อง

ในประเด็นรัฐบาลทหารของไทยทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลเลือกตั้งโดยใช้ข้ออ้างว่าต้องการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่การกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังกลับตรงกันข้าม เพราะตั้งแต่มีการยึดอำนาจมาพบว่ามีผู้ถูกเรียกตัวและกักตัวโดยคณะรัฐประหารมาแล้วอย่างน้อย 782 ราย และไม่ต่ำกว่า 479 คน ถูกจับกุมเพราะทำกิจกรรมทางการเมืองและ 209 คนโดนจับเนื่องจากทำการประท้วงโดยสันติ

เรื่องนี้ไม่ใช่ความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่เราเรียกร้องว่าต่างชาติต้องเข้าใจ แต่ในมิติที่ว่าด้วยการเมือง มันสอดรับกับการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ย้ำมาโดยตลอดว่า เราต้องพึ่งพาภาคการส่งออก ดังนั้น หากสิ่งที่เขาแสดงความเป็นห่วงแล้วไม่ได้รับการแก้ไข เกรงกันว่าถ้าเกิดมาตรการคว่ำบาตรขึ้นมา สภาพเศรษฐกิจของประเทศจะย่ำแย่ขนาดไหน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บัญชาการของ มีชัย ฤชุพันธุ์ แม้จะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นของร้อนจากฉบับดอกเตอร์ปื๊ด แต่มีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะชัดเจนแล้วว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรองดองและการปฏิรูปแห่งชาติหรือคปป. เพราะ พลเอกสมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในวันมอบนโยบายให้กับผู้นำเหล่าทัพ

โดยในมุมของผบ.สส.เมื่อถูกถามเรื่องการสร้างความปรองดองก็บอกว่า ต่อไปจะมีคปป.เกิดขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการปรองดองของคนในชาติ พูดมาขนาดนี้แล้ว ต้องถามว่าถ้ามีชัยไม่ตอบรับ จะหลีกเลี่ยงอย่างไร แต่ถ้ารับจะเลี่ยงบาลีไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านเหมือนร่างของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อย่างไร ประเด็นนี้มองมุมไหนก็หนีไม่พ้นเป็นการเขียนให้มีอำนาจที่เหนือทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ อันเป็นตัวแทนของประชาชน

ไม่เพียงเท่านั้น จากที่มีชัยเคยประกาศไว้ว่าจะรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง แต่ฟังเสียงของ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบกแล้ว คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการประกาศเสียงดังฟังชัดว่า จะไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจหรืออาจเปิดเวทีเป็นกลุ่มชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนแทน

ความคิดประสาทหารก็เคาะประตูบ้านทำความเข้าใจ ถามต่อไปว่า เช่นนี้จะถือเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ยิ่งความคิดที่บอกว่าจะให้นักศึกษาวิชาทหารหรือรด.ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ เนื่องจากมองในแง่ของปริมาณที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว น่าจะดำเนินการได้อย่างทั่วถึง

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งไม่มีใครเถียงว่าเด็กกลุ่มนี้อาจจะมีความรู้และเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่เชื่อได้เลยว่า ไม่น่าจะทำได้ขนาดนั้น และยิ่งมองไปถึงความน่าเชื่อถือยิ่งไปกันใหญ่ ความจริงที่ผู้มีอำนาจยังไม่ยอมสรุปบทเรียนก็คือ กระบวนการทั้งหมดที่ดำเนินการมานั้น ควรที่จะหาจุดยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด

วิธีการที่นำเสนอมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดจากการสั่งการและปฏิบัติการในแบบยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางทหาร เมื่อคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องย่อมหนีไม่พ้นเป็นการใช้อำนาจของคสช.ทางอ้อม ไปถามองค์รัฏฐาธิปัตย์คงจะได้เห็นอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวเป็นคำตอบ ดังนั้น ใครที่เคยคาดหวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้น่าจะเห็นภาพการมีส่วนร่วมมากขึ้นคงต้องเปลี่ยนความคิดกันเสียใหม่

Back to top button