พาราสาวะถี
ตัวเลขที่ปรากฏบ่งบอกชัดเจนว่าสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยน่ากังวลขนาดไหน จากผู้ป่วยตั้งต้น 1 คน และขยับเป็นหลักสิบเพียงไม่กี่วัน
ตัวเลขที่ปรากฏบ่งบอกชัดเจนว่าสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยน่ากังวลขนาดไหน จากผู้ป่วยตั้งต้น 1 คน และขยับเป็นหลักสิบเพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นแค่สัปดาห์เศษพบผู้ป่วยถึง 739 คนกระจายตัวไปในหลายจังหวัด ผลพวงจากการเปิดรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว เทสต์ แอนด์ โก หรือบางรายเทสต์แล้วตรวจแล้วไม่เจอเพราะระยะเวลาที่ไม่นานหรือแทบจะไม่มีเรื่องกักตัวมาเกี่ยวข้อง จึงกลายเป็นช่องโหว่ทำให้เป็นต้นตอแพร่เชื้ออย่างน่าหวาดหวั่นในเวลานี้
กรณีของสองสามีภรรยาชาวกาฬสินธุ์ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงยอมรับเองว่า นี่เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง หรือซูเปอร์สเปรดเดอร์ เพราะนอกจากเมืองน้ำดำที่พบติดเชื้อใน 11 อำเภอ รวม 248 รายแล้ว ยังพบมีการแพร่เชื้อไปตามจังหวัดต่าง ๆ อีก 10 จังหวัด คือ อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สกลนคร ลำพูน อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำปาง และเพชรบูรณ์
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีของนักศึกษาที่อยู่ในกทม.อีกคลัสเตอร์หนึ่ง ซึ่งพบว่ามีผู้ติดรวม 52 ราย ทั้งสองกรณีมาจากปัจจัยเดียวกันคือ การเข้าไปรับประทานอาหารหรือใช้บริการร้านอาหารที่ปรับสภาพจากผับ บาร์ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดมาเป็นร้านอาหาร แต่ห้องปรับอากาศถ่ายเทไม่ดี หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เก็บสิ่งส่งตรวจพบเชื้อในเครื่องปรับอากาศ แสดงให้เห็นว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น หลายร้านไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง อยู่กันค่อนข้างแออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี
ทั้งหมดนี้คืออุทาหรณ์สำคัญ ไม่ใช่รอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจและสั่งการให้เกิดการแก้ไขหรือปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัดเท่านั้น หากแต่สำนึกของผู้ให้บริการก็ต้องเข้มงวดเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ใช้บริการคงต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจว่าสถานที่ที่เข้าไปนั้นมีความเสี่ยงมากหรือไม่ขนาดไหน ถ้าเห็นว่าเสี่ยงเกินไปก็ไม่ต้องใช้บริการ ถือเป็นการลงโทษหรือกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าตั้งหน้าตั้งตาจะกอบโกยหาประโยชน์เพียงอย่างเดียว
โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เมื่อภาครัฐไม่ได้มีการห้ามหรือสั่งยกเลิกการจัดกิจกรรมและการเดินทางต่าง ๆ จึงเป็นธรรมดาที่ว่าแนวโน้มของการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนจะมีตามมามากขึ้น อย่าหวังพึ่งแต่ความสามารถของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว ขอความร่วมมือของคนไทยทุกคนถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ขณะที่ นายแพทย์เกียรติ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้แถลงถึงแบบจำลองหรือฉากทัศน์การระบาดของโรคหลังปีใหม่ ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจและน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
หากมีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้น้อยหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจมีการติดเชื้อถึง 30,000 คนต่อวัน และเสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน เป็นการคาดการณ์ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด แต่ถ้าปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาหรือมาตรการครอบจักรวาล และมาตรการ VUCA ร่วมกับการเร่งฉีดวัคซีนได้มากกว่าปกติ สถานการณ์ก็ไม่น่ากังวล ซึ่งในรอบการระบาดของเชื้อเดลต้าที่ผ่านมาประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างดี ทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจริงต่ำกว่าสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่คาดการณ์ไว้เสียอีก
เวลานี้ไม่ใช่แค่การจัดการการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายให้อยู่หมัดเท่านั้น การยกระดับการตรวจคนและควบคุมคนที่เข้าประเทศแบบเทสต์ แอนด์ โก ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยให้เล็ดลอดเหมือนอย่างเคสที่สร้างปัญหาอยู่ขณะนี้ ความร่วมมือของประชาชนนั้นย้ำมาโดยตลอดว่าทุกคนทำกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่นโยบาย การบริหารจัดการ และการตัดสินใจของฝ่ายกุมอำนาจเท่านั้น
ไม่ยอมลดราวาศอกเรื่องเล่ห์กลทางการเมืองจริง ๆ สำหรับขบวนการสืบทอดอำนาจ กับประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ถกเถียงกันว่าการครบ 8 ปีตามกรอบของรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะเริ่มนับเมื่อใด ปรากฏว่าฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้โชว์ผลงานที่ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นชิ้นโบว์แดงหรือโบว์ดำดี โดยชี้ว่าให้เริ่มนับความเป็นนายกฯ ของท่านผู้นำตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562
เท่ากับว่าช่วยการันตีให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในตำแหน่งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดยาวไปถึงปี 2570 กรณีเช่นนี้จึงมีคำถามว่าใช่กงการอะไรของทีมกฎหมายสภาฯ หรือไม่ แม้แต่ เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ก็ให้ความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเชื่อมโยงกับนายกรัฐมนตรี ไม่ควรมีความเห็นเรื่องนี้ออกมาเป็นทางการ
ในมุมมองของเจษฎ์และบรรดาผู้รู้ทั้งหลายก็คงไม่ต่างกัน กรณีดังกล่าวสามารถตีความได้ 3 แนวทางคือ เริ่มนับเดือนสิงหาคม 2557 ตั้งแต่เป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อคราวมีหัวโขนหัวหน้าคสช.ด้วย เริ่มนับ 6 เมษายน 2560 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และเริ่มนับเดือนมีนาคมหรือมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาแสดงทัศนะหรือระบุความคิดเห็นแบบนี้ได้ มันไม่เหมาะสม ยิ่งมีความเห็นออกมาแบบนี้คนจะคิดได้ว่ามันต้องเป็นแบบนี้หรือไม่
แน่นอนว่าหน่วยงานที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้ควรเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะสามารถยื่นเพื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในช่วงเวลานี้ได้หรือไม่ ทางวิชาการและทางปฏิบัติในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญได้ 2 ลักษณะคือ การควบคุมความชอบเชิงนามธรรม และการควบคุมความชอบเชิงรูปธรรม โดยรูปธรรมเรื่องต้องเกิดก่อน ส่วนนามธรรมเรื่องยังไม่เกิด
แต่หากปล่อยให้เรื่องนั้นเกิดอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ หรือเกิดประเด็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ กรณีนี้ต้องยื่นก่อนและศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับไว้วินิจฉัยได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือความเสียหายตามมา สิ่งสำคัญที่ถือเป็นเรื่องควรสำเหนียกของฝ่ายตีความตามข่าว สภาฯ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จะไปยุ่งอะไรกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและไม่ได้เป็นส.ส.