พาราสาวะถี
ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรกับการที่รัฐบาลสั่งให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทำงานที่บ้านหรือเวิร์ก ฟรอม โฮม กัน 100 เปอร์เซ็นต์
ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอะไรกับการที่รัฐบาลสั่งให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทำงานที่บ้านหรือเวิร์ก ฟรอม โฮม กัน 100 เปอร์เซ็นต์หลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่เป็นเวลา 14 วันอย่างน้อย เพราะกรณีการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าเมื่อหลังสงกรานต์ปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ดีกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่หลังจากผิดพลาดจากการปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก คาดการณ์กันว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะดีขึ้น แต่ไม่เป็นไปเช่นนั้น
หนนี้เมื่อมีโอมิครอนที่พบว่าระบาดง่ายกว่าเดลต้าและกำลังลุกลามไปทั่วโลก เมื่อเสี่ยงที่จะปล่อยให้คนกลับบ้านโดยไม่ได้มีมาตรการควบคุมใด ๆ เท่ากับว่าคนใช้ชีวิตกันเกือบปกติ ดังนั้นตัวเลขของผู้ติดเชื้อหลังจากนี้หากมีการปล่อยให้กลับมาทำงานทั้งหมด ไม่ขีดเส้นให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทำงานที่บ้าน โอกาสที่จะเดินซ้ำรอยคราวสงกรานต์หรือจะพบเจอตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดย่อมมีตามมามากเช่นเดียวกัน
ถือเป็นการเพลย์เซฟ ขณะที่วันศุกร์นี้จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าทิศทาง แนวโน้มของผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นอย่างไร จะมีการยกระดับมาตรการเพื่อคุมเข้มอีกหรือไม่ แต่ที่แพลมมาจาก พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศบค. ยืนยันจะไม่มีการล็อกดาวน์แบบเดิมอีก แต่อาจจะใช้วิธีการคุมเข้มเฉพาะบางพื้นที่หรือการล็อกดาวน์บางจุดนั่นเอง
คงต้องไปลุ้นกันว่าจะมีคลัสเตอร์ของโอมิครอนเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง เหมือนอย่างที่กาฬสินธุ์ที่กลายเป็นจุดแพร่เชื้อขนานใหญ่ หรือ ซูเปอร์สเปรดเดอร์ ถ้ายังคุมตัวเลขของผู้ติดเชื้อไม่ได้อาจจะถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่สีแดงหรือสีแดงเข้ม แล้วก็คลอดมาตรการควบคุม กำกับตามมา เพราะข้อมูลจากศบค.ที่เป็นห่วงในการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดมีอยู่ 3 จังหวัดที่พบตัวเลขผู้ป่วยสูง นั่นก็คือ กาฬสินธุ์ กทม. และภูเก็ต
ความจริงก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ทั้งหลายทั้งปวงถ้าจะถามหาความรับผิดชอบก็ต้องมาจากนโยบายของรัฐบาลกับการเปิดประเทศ ต้นตอของการแพร่เชื้อที่สำคัญก็มีจากนักท่องเที่ยวหรือคนไทยที่เดินทางกลับแล้วเข้าสู่ระบบไม่ต้องกักตัว หรือ เทสต์ แอนด์ โก จะอ้างว่ามีการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ทั้งก่อนการเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึงแล้วให้ผลเป็นลบ จึงน่าเชื่อถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ติดเชื้อโควิด ทั้งที่มีความเป็นห่วงจากหมออาชีพจำนวนไม่น้อยว่า วิธีการกักตัวแล้วลดจำนวนวันที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ถือเป็นมาตรการป้องกันชั้นแรก จากที่เคยกักตัว 14 วัน อาจจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 7 วัน อย่างน้อยก็ยังดีกว่าปล่อยตัวไปในทันที แล้วมาไล่ตามเก็บกันทีหลังซึ่งก็ไม่ทันการณ์อย่างที่เห็น ไม่ใช่การซ้ำเติมหรือบอกว่าพอเกิดเหตุการณ์แล้วก็พูดได้สิว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าหากย้อนกลับไปฟังความเห็นที่เป็นห่วงกันก่อนหน้าจะพบว่ามีการเตือนกันไว้แล้ว แต่บรรดาหมอการเมืองต่างเชื่อมั่นว่าจะเอาอยู่ โดยไม่คิดเผื่อว่าจะมีโควิดกลายพันธุ์ที่สามารถแพร่ระบาดได้เร็วขนาดนี้
ชัดเจนถึงสถานการณ์โอมิครอน เมื่อมีคำเตือนจาก นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ทวีปแอฟริกาเริ่มคงที่ตั้งแต่หลังกลางเดือนธันวาคม ในขณะที่ทวีปอื่น ๆ เป็นขาขึ้น ยุโรปและอเมริกาขึ้นชัดเจนมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ 3 ของธันวาคม น่าสังเกตว่าเอเชีย อเมริกาใต้ และโอเชียเนีย เริ่มแล้วตั้งแต่ปลายธันวาคมเป็นต้นมา นั่นหมายความว่าประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่คนไทยต้องทำคือ ต้องตระหนัก ควรตระหนก และต้องมีสติ ใส่หน้ากาก อยู่ห่างคนอื่น ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เตรียมที่ทาง อุปกรณ์จำเป็นในบ้าน เผื่อตัวเรา หรือสมาชิกในครอบครัวได้ใช้ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ที่วัดไข้ ยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์ทำความสะอาด แผนการใช้พื้นที่ภายในบ้านไม่ให้ปะปนกับคนอื่น และชุดตรวจ ATK รวมถึงรายละเอียดสถานพยาบาลหรือสถานที่บริการ RT-PCR ใกล้บ้าน
ปรับระบบงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แบ่งทีมทำงานจะได้ไม่เสี่ยงติดกันทั้งก๊ก ทำงานที่บ้านได้ควรทำ ออนไลน์ดีกว่าออนไซต์ ไปเท่าที่จำเป็น หมั่นตรวจสอบ สำรวจตัวเราและคนในบ้าน หากไม่สบาย ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คล้ายหวัด ให้นึกถึงโควิดไว้เสมอ และรีบตรวจ หากใช้ ATK ผลเป็นบวก โอกาสติดเชื้อจริงสูง แต่ก็ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลด้วย RT-PCR แต่หาก ATK ผลเป็นลบโดยมีประวัติเสี่ยง หรือมีอาการน่าสงสัย อย่าได้วางใจ อาจเป็นผลลบปลอมได้ ควรตรวจซ้ำบ่อย ๆ หรือไปตรวจ RT-PCR
นั่นเป็นข้อกังวลเรื่องโควิดหลังปีใหม่ ส่วนด้านเศรษฐกิจ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย แสดงความกังวลว่า หลังจากปีใหม่ผ่านไปมีกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคเตรียมปรับราคาขึ้นหลายรายการ อาทิ เครื่องปรุงรสที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีการปรับราคาขึ้นบ้างแล้ว อย่างกระป๋อง สารปรุงแต่งรสชาติ รวมถึงอาหารทะเล ที่คาดว่าจะปรับราคาแรงขึ้น เนื่องจากขณะนี้เราไม่มีแรงงานในการออกหาของทะเล
เนื่องจากแรงงานส่วนมากเป็นต่างด้าว และเดินทางกลับประเทศต้นทางหลังเกิดการระบาดโควิด ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง ซึ่งประเมินว่าสถานการณ์จะรุนแรงและชัดเจนขึ้น หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนกลับมาจับจ่ายใช้สอย และกล้าใช้เงินมากขึ้น เมื่อมีความต้องการหรือดีมานด์เพิ่มสูงขึ้น แต่สินค้าหรือซัพพลายหาไม่ทัน หรือมีไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้ของแพงขึ้นอีก นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ให้ถูกทาง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมชายทิ้งทวนเป็นข้อสังเกตและตรงใจคนไทยส่วนใหญ่ก็คือ ขณะที่มาตรการในการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไปนั้น มองว่ามาตรการที่ออกมายังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของทุนใหญ่ เห็นเม็ดเงินออกมาวูบเดียวแล้วก็หายไป ไม่ได้หมุนเวียนหลายรอบแบบที่ควรจะเป็น เนื่องจากประเทศไทยมีนายทุนใหญ่ครอบธุรกิจจนหมดทุกอย่างแล้ว ทำให้เงินเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของคนไม่กี่คน เรื่องจริงที่ขบวนการเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ยอมรับ