พาราสาวะถีอรชุน

เบื้องลึกเบื้องหลังของคำสั่งย้าย จเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วตั้ง นัฑ ผาสุข ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามาทำหน้าที่แทนเป็นสิ่งที่ข้ามหน้าข้ามตา จนข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาฯนัดแต่งดำประท้วง เป็นเหตุให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้มาตรา 44 พลิกคำสั่งเดิมนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


เบื้องลึกเบื้องหลังของคำสั่งย้าย จเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วตั้ง นัฑ ผาสุข ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามาทำหน้าที่แทนเป็นสิ่งที่ข้ามหน้าข้ามตา จนข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาฯนัดแต่งดำประท้วง เป็นเหตุให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้มาตรา 44 พลิกคำสั่งเดิมนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สนใจประการหนึ่งคือ เหตุผลของการที่จเรถูกย้ายนั้นเป็นเรื่องของการทุจริตหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีนี้บิ๊กตู่อ้างว่าย้ายเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็มีข้อมูลมาจาก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ระบุว่า การถูกย้ายของเลขาสภาฯเป็นเพราะไปขวางทางปืนผลประโยชน์จากการขายดินที่ขุดจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ต่างหาก
โดยมีการปูดอักษรย่อ “ช.” กับ “พ.” เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่ง “ช.” เป็นคนยิ่งใหญ่มาก เป็นเพื่อนรองนายกรัฐมนตรีและเคยดูแลนักกฎหมายคนนี้มายาวนาน โดยการขายดินนั้น จเรไม่ได้สนองต่อการกระทำดังกล่าว เพราะ “ช.” มีบทบาทสำคัญกับการขนดินออกไปขาย เมื่อมีเจ้าหน้าที่ไปนับรถขนดินจึงเกิดความไม่พอใจ
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแก้ไขเงื่อนไขในสัญญาดำเนินการจากที่ระบุให้นำดินบริจาคมูลนิธิหรือองค์กรการกุศล ถูกเปลี่ยนเป็นการขายราคาคิวละ 27 บาท แล้วนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่งราคาคิวละ 300 บาท เพื่อไปถมที่บริษัทเอกชนทำให้เกิดรายได้นอกงบประมาณจำนวนมหาศาล เรื่องนี้บิ๊กตู่ควรตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงแล้ว “พ.” จะนั่งอยู่ในตำแหน่งได้หรือไม่
ความน่าสนใจประการต่อมาก็คือ หัวหน้าคสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยอมรับว่า ผิดที่ลงนามแต่งตั้งนัฑ ทั้งที่มีกฎระเบียบการแต่งตั้งภายใน จึงต้องยกเลิกคำสั่งและให้ทบทวนการแต่งตั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งการสั่งย้ายในกรณีนี้ไม่สามารถใช้กฎหมายปกติได้ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการโปรดเกล้าฯจึงต้องใช้มาตรา 44
คำถามที่ตามมาคือ คนที่ชงให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ลงนามไม่รู้หรืออย่างไร มิหนำซ้ำ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เจ้าของเรื่องยังยืนยันก่อนหน้านั้นว่า เป็นคนเสนอชื่อนัฑให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้มองว่าจะเป็นการขัดหรือข้ามการทำงานระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่อย่างใด
นี่ขนาดอดีตประธานที่ปรึกษากฎหมายหัวหน้าคสช. ยังมองไม่เห็นสิ่งที่บิ๊กตู่ยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาด ทั้งๆ ที่มีกฎระเบียบการแต่งตั้งภายใน จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนว่า ความผิดพลาดก่อนหน้านั้นอย่างเช่นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติและอื่นๆ ถือเป็นความบกพร่องของเหล่ามือกฎหมายที่รายล้อมผู้มีอำนาจ กลายเป็นพวกเนติบริกรตกท่อใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของข้าราชการสภาฯ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า การใช้อำนาจพิเศษของหัวหน้าคสช.ผ่านมาตรา 44 นั่นไม่ใช่ว่าทุกคนทุกฝ่ายจะก้มหน้ายอมรับได้เสมอไป และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นท่าทีของบิ๊กตู่ที่ยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้มาตราดังกล่าว แต่ไม่ได้ใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ ไม่ได้ดันทุรัง ไม่อยากแต่งตั้ง ไม่อยากยกเลิกด้วยมาตรา 44 ไม่ได้ตั้งใจไปรังแกข้าราชการ
เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนว่า มาตรา 44 ที่คิดว่าเป็นยาวิเศษนั้น แท้ที่จริงพอเกิดภาพการชักเข้าชักออก ทำให้เห็นว่า ยิ่งใช้มากก็ยิ่งมีปัญหาและยิ่งหมดความน่าเชื่อถือ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆ ที่มีการข้ามห้วยกันเป็นว่าเล่น ในระยะยาวไม่รู้ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับระบบราชการหรือไม่
ขณะเดียวกันมีประเด็นล่าสุด ที่ วิษณุ เครืองาม มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกทั้งข้อเสนอขององคมนตรีต่อการปฏิรูปประเทศและยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรณีที่มีข้อครหาเรื่องผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นกรรมการป.ป.ช. 1 ในจำนวน 5 คนนั้นมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและคสช. ด้วยคำพูดที่ว่า“ไม่แปลกอะไร ก็มันใช่” พูดง่ายๆและคิดว่าตัวเองแน่ แต่สุดท้ายมันกลับเป็นการยืนยันถึงกระบวนการที่มาและผลลัพธ์จากการปฏิบัติงาน จนสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับองค์กรเหล่านั้น
เช่นเดียวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีความพยายามจะทำให้อำนาจอื่นยืนอยู่เหนืออำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าหากเดินตามแนวทางนี้โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งย่อมมีสูง จึงสมควรฟังความเห็นจาก เกษียร เตชะพีระ ที่พูดในโครงการธรรมศาสตร์ฟอรั่มซีรี่ย์ ครั้งที่ 1 เสวนาทางวิชาการเรื่องรัฐธรรมนูญไทยมองไปข้างหน้า
โดยเกษียรระบุรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามจากฝ่ายต่างๆ ว่า ใครคือผู้มีสิทธิอำนาจโดยชอบธรรมกันแน่ ขณะที่ระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการนั้นทำให้เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบไม่ประชาธิปไตยคือโครงสร้างอำนาจจากเสียงข้างมากถูกควบคุมจากสถาบันไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ดังนั้น จึงขอเสนอว่าควรแก้ไขโดยเพิ่มประชาธิปไตยให้มากขึ้น
ส่วนปัญหาอำนาจนิยมของรัฐราชการคือไม่พร้อมรับผิดชอบใดๆ และพร้อมที่จะฉ้อฉล ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาระบบอำนาจนิยมระบบราชการได้แก่ ยกอำนาจการเลือกตั้งให้เหนือกว่าระบบราชการ ให้ระบบราชการออกจากการเมือง และให้ทหารถอยทัพกลับกรมกอง เพื่อไปทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นประชาธิปไตยเสียอีก

Back to top button