พาราสาวะถี

การประกาศว่าจะกลับประเทศไทยของ โทนี่ วูดซัม หรือ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ส.ว.ลากตั้งก็ฟันธงเปรี้ยงไม่มีวันที่จะเป็นไปได้


คงเป็นประเด็นให้คอการเมืองได้ถกกันอย่างกว้างขวางและเกิดการพนันขันต่อกันอีกว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ กับการประกาศว่าจะกลับประเทศไทยภายในปี 2565 ของ โทนี่ วูดซัม หรือ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันอังคารที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา เหลือเวลาอีก 360 กว่าวันที่ให้ได้ลุ้นกัน แต่ในฝ่ายต่อต้านเสียงจาก วันชัย สอนศิริ ส.ว.ลากตั้งก็ฟันธงเปรี้ยงไม่มีวันที่จะเป็นไปได้ ความจริงคนส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะมองไปในทิศทางที่ต่างกันมาก

หากจะยกเอาเหตุการณ์ที่อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของนโยบายประชานิยมที่ครองใจคนรากหญ้ามานานหลายสิบปี ก้มลงกราบแผ่นดินบ้านเกิด ณ สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังต้องเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศนับตั้งแต่การถูกยึดอำนาจโดยคมช. 19 กันยายน 2549 บริบททางการเมืองในหนนั้นกับวันนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง การเดินทางกลับมาในครั้งนั้นของทักษิณเพราะชัยชนะอันงดงามในสนามเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน

เวลานั้นผู้คนส่วนใหญ่ที่ถือหางต่างยินดีปรีดาต่อการกลับมา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ และรอวันที่จะเอาคืน สิ่งสำคัญคือในห้วงเวลานั้นคดีความต่าง ๆ ของทักษิณก็ยังไม่มีการตัดสิน แต่หลังจากนั้นเมื่อคดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ปรากฏว่าเจ้าตัวก็ต้องระเห็จออกจากประเทศอีกครั้ง กลายเป็นคนแดนไกลอีกกระทอกและยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นไม่ว่าการประกาศจะกลับประเทศแบบเท่ห์ ๆ หรือจะกลับให้ได้ภายในปีนี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากและยังมองไม่เห็นหนทาง

อย่าลืมเป็นอันขาดการกระเด็นตกเก้าอี้ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีจุดตั้งต้นมาจากความพยายามของคนในพรรคกับการเสนอออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมสุดซอย ขนาดยอมถอยจนกระทั่งนำไปสู่การยุบสภาทุกอย่างก็ยังไม่จบ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมมีบทเรียนมาแล้ว จึงเกิดการรุกคืบและเข้ามากุมอำนาจจนถึงทุกวันนี้ หากยังมีความพยายามที่จะนำทักษิณกลับประเทศอีก ย่อมมองกันได้ไม่ยากว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญหากเกิดความพยายามดังกล่าวขึ้นจริง ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย การนำทักษิณกลับบ้านโดยที่ยังมีคดีความที่ถูกตัดสินให้จำคุกค้างคาอยู่นั้นจะจัดการกันอย่างไร กระบวนการยุติธรรมที่หนนี้จะหมายถึงสถาบันตุลาการโดยตรงย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่และยากอย่างยิ่งต่อคำประกาศที่ทักษิณแสดงความมั่นใจล่าสุด

ท้ายที่สุดคงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากแผนการตลาดในฐานะนักการตลาดชั้นเยี่ยม อะไรก็ตามที่จะติดตาตรึงใจคนได้ก็จะหยิบขึ้นมาใช้ขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพรรคการเมืองในคาถาอย่างเพื่อไทยให้ได้มากที่สุด ยิ่งจะมีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่มองว่าเข้าทางพรรคนายใหญ่ยิ่งต้องเรียกความเชื่อมั่นจากบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายที่กำลังลังเลอยู่ว่าจะเลือกยืนอยู่ฝั่งไหนให้เกิดความมั่นใจ กล้าที่จะตัดสินใจได้มากขึ้น

ส่วนฝ่ายกุมอำนาจก็ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะนำไปสู่การยุบพรรคคู่แข่งสำคัญให้ได้ เวลานี้มีกี่เรื่องที่ยื่นร้องพรรคนายใหญ่ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของกกต. กับหนล่าสุดที่ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ทหารแก่ไม่มีวันตายให้สัมภาษณ์ว่าทักษิณสั่งปลดตัวเองพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค ยิ่งเป็นหัวเชื้อให้นักร้องได้นำไปใช้ยื่นเอาผิดได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากที่ถูกยุบพรรคมาถึงสองรอบรวมทั้งกรณีไทยรักษาชาติด้วย คงไม่มีใครโง่พอที่จะทำให้พรรคตัวเองถูกยุบซ้ำซาก

แต่ก็อย่างว่าไม่ว่าจะรัดกุมอย่างไร ปิดช่องโหว่ขนาดไหน ของพรรค์นี้มันขึ้นอยู่กับการตีความ ทุกอย่างมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น บทเรียนจากการเปิดพจนานุกรมเอาผิด หรือการอ้างถนนลูกรังไม่หมดไปสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรที่ทาสรับใช้เผด็จการหรือฝ่ายอำนาจนิยมจะทำไม่ได้ เพราะสิ่งที่ประสบพบเจอกันมาตลอดเวลากว่า 7 ปีก็คือ ผู้ปกครองถูกมองว่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัฐ หรือกลุ่มคนใด ๆ ในการดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการรักษาอำนาจของตนไว้เท่านั้น

เรื่องของทักษิณยังเป็นสิ่งที่ต้องว่ากันอีกนาน เฉพาะหน้าว่ากันด้วยการเลือกตั้งซ่อมความไม่ลงรอยกันระหว่างสองพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคสืบทอดอำนาจกับประชาธิปัตย์ มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งที่พื้นที่เขต 9 กทม. พรรคเก่าแก่ประกาศไม่ส่งคนลงสมัครด้วยเหตุผลที่เป็นการตบหน้าเพื่อนร่วมรัฐบาลฉาดใหญ่ “คำนึงถึงมารยาททางการเมือง” เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมจึงไม่ส่งคนลงแข่ง แต่คงจะถามหาสำเหนียกจากเพื่อนได้ยาก

เห็นได้ชัดว่าพื้นที่เขต 1 ชุมพรนั้นเป็นจุดที่พรรคสืบทอดอำนาจและประชาธิปัตย์แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ที่น่าสนใจในมุมของประชาชนทั่วไปก็คือ การสาวไส้กันไปมาของสองพรรคช่วยสะท้อนให้เห็นภาพของการใช้อำนาจรัฐเข้าไปสร้างความได้เปรียบต่อการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี เริ่มจากแกนนำหลักของพรรคเก่าแก่ออกมาแฉก่อนว่ามีการส่งทหารลงไปในพื้นที่ ก่อนที่จะเล่นสงครามประสาทว่ามีหลักฐานแต่ไม่เปิดตอนนี้เอาไว้ใช้ในยามจำเป็น จนเรื่องนี้ทางกองทัพต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ

นอกจากจะเป็นการตีกันชิงความได้เปรียบเฉพาะหน้าต่อสนามเลือกตั้งซ่อม ยังเป็นการถีบเข้ายอดอกของทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ประจานไปถึงการเลือกตั้งหนที่ผ่านมาว่า มีการใช้ทหารเข้าไปเพื่อเอาเปรียบพรรคคู่แข่งอื่น ๆ แต่พรรคแกนนำรัฐบาลก็ไม่ยอมให้ถูกตีกิน ล่าสุดมีการแฉกลับบ้างว่ามีการสั่งให้อสม.ในพื้นที่ช่วยหาเสียงให้กับบางพรรคการเมือง ซึ่งก็หนีไม่พ้นการโจมตีพรรคเก่าแก่ที่มีคนของตัวเองเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข เนื่องจากสนามนี้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ลงแข่ง

บอกแล้วว่าการเมืองนั้นวิชาสามานย์มีสารพัด ที่ถูกงัดมาใช้มากที่สุดคือการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบคู่แข่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความหนาของผู้ที่มีอำนาจในเวลานั้น ยุคนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอาจออกตัวได้ง่ายหน่อยไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด จึงไม่อาจให้คุณให้โทษกับใครได้ แต่ไม่ว่าจะปฏิเสธกันอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้ตำแหน่งและอำนาจทั้งในรัฐบาลและส่วนราชการเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองนั้นมีอยู่จริง

Back to top button