SET ไม่กลัวโควิด
ตลาดหุ้นส่งสัญญาณสดใสในวันแรกเป็นประเดิมต้อนรับปีใหม่ และในวันต่อมาก็ยังสดใสต่อเนื่อง ส่อแนวโน้มจะมี “แจนยัวรี่ เอฟเฟคต์”
ตลาดหุ้นส่งสัญญาณสดใสในวันแรกเป็นประเดิมต้อนรับปีใหม่ และในวันต่อมาก็ยังสดใสต่อเนื่อง ส่อแนวโน้มจะมี “แจนยัวรี่ เอฟเฟคต์” หรือการวิ่งขึ้นของตลาดในเดือนมกราคมได้อีกปีหนึ่ง อันเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนเฝ้าจับตามาเป็นประจำ
หากใครซื้อหุ้นเดือนนี้ ก็จะได้รับโชคงดงามเพียงช่วงเวลาอันสั้นแค่เดือนเดียว หรืออาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น
จากการรวบรวมย้อนหลัง 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ของฝ่ายข้อมูลข่าวหุ้นธุรกิจ ปรากฏการณ์ January ที่นับตั้งแต่ต้นม.ค.-สิ้นม.ค.เกิดขึ้นถึง 8 ใน 10 ครั้ง ได้แก่ ปี 55, 56, 58, 59, 60, 61, 62 และ 64
คงมีเพียงปี 57 และ 63 เท่านั้น ที่ “แจนยัวรี่ เอฟเฟคต์” ไม่เกิด
สถิติมันข่มกันมิด ในทางสถิติก็ถือว่ามีแนวโน้มจะเกิด ”แจนยัวรี่ เอฟเฟคต์” ขึ้นอีก แต่ปีนี้ โลกก็ยังถูกรบกวนด้วยโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ขยายสายพันธุ์ใหม่เป็น “โอมิครอน” แล้ว
เขาว่าเจ้าเชื้อโอมิครอนนี้ แพร่จากคนสู่คนได้ง่ายกว่าเดลต้า แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าเป็นอันมาก เพราะเชื้อไม่ลงปอด
ก็เห็นจะจริงดังว่า เพราะหากดูตามสถิติรวมใน 132 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนรวมทั้งสิ้น 495,630 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 111 ราย คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.02 เท่านั้น
สหราชอาณาจักร ที่เห็นเชื้อโอมิครอนระบาดหนักที่สุด 246,780ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 75 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.03 เท่านั้น
เดนมาร์กติดเชื้อในลำดับ 2 จำนวน 61,563 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 18 ราย สหรัฐอเมริกา ลำดับ 3 ติดเชื้อ 48,386 ราย ตายเพียง 1 เยอรมนีลำดับ 4 ติดเชื้อ 42,556 ราย ตาย 12 และลำดับ 5 แคนาดา ติดเชื้อ 22,167 ราย ไม่มีใครตายเลย
สำหรับประเทศไทย รายงานผู้ติดเชื้อเป็นลำดับที่ 15 ของโลก จำนวน 2,338 ราย ที่ตึงตัง ๆ กันถึงขั้นกลับมาปิดประเทศ ควบคุมการเข้าเมืองของนักท่องเที่ยว ไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิดเชื้อโอมิครอนเลย
ผมว่า ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดว่า ทฤษฎีโอมิครอนที่ว่า “แพร่เชื้อง่าย แต่อาการไม่รุนแรง” มีแนวโน้มเป็นจริงค่อนข้างมาก ความเห็นคุณหมอส่วนหนึ่งในประเทศไทย ยังไปไกลถึงขั้นว่า ให้คนไทยรับเชื้อโอมิครอนกันไปเยอะ ก็เสมือนว่าฉีดวัคซีนไปในตัว และจะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” สามารถแปรโรคร้ายให้เป็น “โรคประจำถิ่น” ได้
แต่ความเห็นคุณหมออีกส่วนหนึ่ง ก็ยังระแวดระวังหมั่นเตือนเสมอว่า “การ์ดอย่าตก” รวมทั้งยังได้นำเสนอความเชื่อว่า“อีก 3 วัน ผู้ป่วยโควิดจะกลับมาทะลุหมื่น” (พูดเมื่อ 5 ม.ค. ครบกำหนดคำทำนายวันที่ 8 ม.ค.คงได้รู้กัน)
ความเห็นที่ย้อนแย้งกันเองในหมู่คุณหมอนี่กระมัง ถึงทำให้ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้บัญชาการ ตัดสินใจแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เดี๊ยวปิดเดี๋ยวเปิดประเทศ
ตอนตัดสินใจเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจบนความเสี่ยงทั้งจำนวนวัคซีนฉีดก็น้อยและขาดแคลน ยารักษาก็น้อยจนปล่อยให้ผู้ป่วยนอนตายต่อหน้าต่อตา
แต่ตอนตัดสินใจยกเลิก “เทสต์&โก” เสมือนปิดประเทศเมื่อ 22 ธ.ค.และต่อมาตรการจาก 4 ม.ค.มาเป็นสิ้นธ.ค.ก็เป็นช่วงที่สิ่งขาดแคลนทั้งหลาย หมดสิ้นไปแล้ว และระดับอาการของเชื้อโอมิครอน ก็ไม่สาหัสรุนแรงดังที่ยกตัวเลขมาให้เห็น
สำหรับตลาดหุ้นไทยปี 2563 ที่ปิดประเทศ ซึ่งเป็นปีที่โควิดระบาดหนักและขาดแคลนองค์ความรู้ กลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตใดในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคแพร่ระบาด หรือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยติดลบไปในระดับร้อยละ 8.3% ปิดสิ้นปีที่ 1,449 จุด
ภาวะของ SET ก็ล้อไปกับยอดขายบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง 14.4% และกำไรสุทธิที่ลดลงถึง 53% นั่นละครับ
ส่วนในปี 64 ที่ปิด ๆ เปิด ๆ ประเทศ และโควิดระบาดหนักกว่าปี 63 ตลาดหุ้นดูท่าจะไม่กลัวแล้วครับ
ดัชนีหลักทรัพย์สิ้นปี 2564 ปิดที่ 1,657 จุด เพิ่มขึ้นจากปี 63 กว่า 208 จุด คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.37
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 64 ที่ผ่านมานี้ (ม.ค.-ก.ย.) มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.3
ผมว่าปีนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ไม่กลัวโควิดหรอกครับ
ขออวยพรย้อนหลังสวัสดีปีใหม่ FC ข่าวหุ้น อย่าเจ็บอย่าจน มีความสุขจากการลงทุนกันโดยถ้วนหน้าครับ