TPAC อัพแวลูแดนภารตะ.!!
ที่ผ่านมาหุ้น TPAC ถือเป็นม้านอกสายตา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้หุ้นบรรจุภัณฑ์ตัวอื่น ๆ วิ่งกันครื้นเครง ไม่ว่าจะเป็น AJ, PTL, EPG และ SFLEX
ที่ผ่านมาหุ้นบริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC ถือเป็นม้านอกสายตา ถูกนักลงทุนมองข้ามหัวมาตลอด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้หุ้นบรรจุภัณฑ์ตัวอื่น ๆ วิ่งกันครื้นเครง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJ, บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL, บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG และบริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX
อาจเป็นเพราะหุ้นตัวอื่น ๆ ทำบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งได้รับอานิสงส์จากธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เติบโตระเบิดระเบ้อในช่วงโควิด หนุนให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ TPAC เน้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกสินค้าอุปโภค เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ซะมากกว่า เลยไม่เปล่งรัศมีเท่าที่ควร…
โอเค…ในแง่ของผลประกอบการ TPAC ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่นะ รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง…ปี 2561 มีรายได้รวม 2,584 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 3,797 ล้านบาท กำไรสุทธิ 138 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 4,033 ล้านบาท กำไรสุทธิ 321 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปี 2564 มีรายได้รวม 3,661 ล้านบาท กำไรสุทธิ 81 ล้านบาท…
แต่น่าเสียดายมาร์จิ้นบางไปหน่อย…สะท้อนได้จากอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำ 10% โดยปี 2561 อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำ 0.88% ปี 2562 อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำ 4.29% ปี 2563 อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำ 8.76% และงวด 9 เดือนปี 2564 อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำ 2.63%
เรียกได้ว่า เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส แต่ราคาหุ้นอยู่นอกกระแสซะงั้น…
ที่จริงในแง่ของตัวธุรกิจ TPAC มีความเคลื่อนไหวเรื่อย ๆ นะ ก่อนหน้านี้ ก็ไปซื้อหุ้น 80% ใน Combi-Pack Sdn Bhd (Combi-Pack) ที่มาเลเซีย ซึ่งทำธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารที่เป็นนวัตกรรมและมีคุณภาพสูง มูลค่า 170 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราว 1,301 ล้านบาท
โดยการซื้อ Combi-Pack ครั้งนั้น TPAC หวังเสริมความแข็งแกร่งในตลาดอาเซียน รวมถึงการขยายไปสู่ตลาดใหม่ ๆ เพราะ Combi-Pack นอกจากเป็นผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์ในมาเลเซียแล้ว ยังส่งออกสินค้าไปยังหลายตลาดในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคโอเชียเนียอีกด้วย
และล่าสุดก็ไปซื้อกิจการ M/s Skypet Polymers ทำธุรกิจผลิตและขึ้นรูปพลาสติก ขวดพลาสติก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่เมือง Coimbatore ในประเทศอินเดีย มูลค่า 1,030 ล้านรูปีอินเดีย หรือราว 484.1 ล้านบาท
ก็ถือเป็นการขยายโอกาสในการลงทุนในประเทศอินเดียให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มเติมจากเดิมที่ TPAC ทำตลาดอยู่แล้วในภาคตะวันตกและภาคเหนือของประเทศอินเดีย ก็จะครอบคลุมไปถึงอินเดียตอนใต้ด้วย
จุดที่น่าสนใจ อย่าลืมว่า ในทวีปเอเชีย ตลาดใหญ่ที่เป็นรองจากจีน ก็อินเดียนี่แหละ ซึ่งมีกำลังซื้อราว 1,400 ล้านคน ประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศสูงขึ้น อินเดียจึงกลายเป็นตลาดเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก…การไปซื้อกิจการที่อินเดียครั้งนี้ ก็น่าจะช่วยหนุนการเติบโตของ TPAC ได้ไม่น้อยแหละน๊ะ…
เพราะถ้าดูงบการเงินของ M/s Skypet Polymers ช่วง 3 ปีย้อนหลัง ก็มีกำไรติดปลายนวมอยู่นะ…สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2562 มีรายได้รวม 305.00 ล้านบาท กำไรสุทธิ 24.59 ล้านบาท สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีรายได้รวม 337.55 ล้านบาท กำไรสุทธิ 20.41 ล้านบาท และสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2564 มีรายได้รวม 337.51 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.20 ล้านบาท
อ้อ…ถ้าใครกังวลว่า TPAC ไปหากินกับแขกแล้วจะเสียท่าแขกนั้น ให้ลองชายตาไปดูชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่เสียก่อน ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “อานุช โลเฮีย” ทายาทยักษ์ใหญ่บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เศรษฐีแดนภารตะที่เข้ามาหากินในเมืองไทย…ทำให้อุ่นใจได้ว่า งานนี้คงไม่เสียท่าง่าย ๆ หรอก…เชื่อหัวไอ้เรืองสิ…
และไม่แน่อาจทำผลตอบแทนสูง จนทำให้อัตรากำไรที่บางเฉียบของ TPAC หนาขึ้นมาบ้างก็ได้นะ…
…อิ อิ อิ…