‘สงครามกลางเมืองเมียนมา’ สุกงอม?
เกือบหนึ่งปีเต็มแล้วที่ได้เกิดการปฏิวัติในเมียนมา แต่ดูเหมือนมีแต่รายงานที่ชี้ว่า สถานการณ์มีแต่เลวร้ายและถดถอยลง
เกือบหนึ่งปีเต็มแล้วที่ได้เกิดการปฏิวัติในเมียนมา แต่ดูเหมือนมีแต่รายงานที่ชี้ว่า สถานการณ์มีแต่เลวร้ายและถดถอยลง เจ้าหน้าที่และทูตของสหประชาชาติได้ออกมาเตือนและแสดงความกังวลเป็นระยะว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิด “สงครามกลางเมือง” และ ล่าสุด นาย ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ถึงกับเอ่ยปากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เมียนมามี “ส่วนผสมครบ” ที่จะเกิด “สงครามกลางเมือง” ได้
ความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชามีขึ้นก่อนที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน จะเยือนเมียนมา ในวันที่ 7 และ 8 มกราคม ในฐานะที่กัมพูชาเป็นประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ แต่หลังจากที่ฮุน เซน ได้พบกับมิน อ่อง หล่าย ก็มีแถลงการณ์ร่วมกันว่าเพียงว่า เมียนมายินดีให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเข้าร่วมพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และรัฐบาลทหารจะขยายเวลาหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดในประเทศออกไปถึงสิ้นปีนี้จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. นี้
อย่างไรก็ดีไม่กี่วันหลังจากที่มีแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาที่ดูเหมือนจะยินดีทำตาม “ฉันทามติ” 5 ข้อของอาเซียน ในวันจันทร์ที่ 10 มกราคม ศาลเมียนมาก็ตัดสินจำคุก อองซาน ซูจี เป็นเวลา 4 ปี ในคดีฝ่าฝืนกฎหมายนำเข้าและส่งออกด้วยการครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์กกี้-ทอล์กกี้โดยไม่ได้รับอนุญาต และคดีฝ่าฝืนมาตรการควบคุมไวรัสโคโรนา
ก่อนหน้านี้ ซูจีถูกตัดสินลงโทษเมื่อเดือนที่แล้วในข้อหาอื่นอีก 2 ข้อหา และได้รับโทษจำคุก 4 ปี แต่ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มิน อ่อง หล่าย ก็ได้ลดโทษลงให้ครึ่งหนึ่ง คำตัดสินล่าสุด ทำให้ซูจีต้องโทษจำคุกไปแล้วทั้งหมด 6 ปี
นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของเธอเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ของปีที่แล้ว ซูจีต้องคดีมากกว่า 10 คดี ซึ่งหากพบว่ามีความผิดทุกข้อหา เธออาจต้องโทษจำคุกรวมกันกว่า 100 ปี ซึ่งเท่ากับว่าจำคุกตลอดชีวิต
มีรายงานว่า การไต่สวนมีขึ้นในกรุงเนปิดอร์ ไม่อนุญาตให้สื่อและประชาชนเข้าฟัง และอัยการไม่ได้ให้ความเห็น ขณะเดียวกัน ก็สั่งห้ามทนายความของเธอเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณามาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
แม้แต่ฮุน เซนซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนแรกที่ไปเยือนเมียนมานับตั้งแต่ทหารทำรัฐประหารและมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าสนิทกับมินอ่อง หล่าย ก็ยังไม่ได้พบกับซูจี
แน่นอนว่าการตัดสินจำคุกซูจีต้องถูกทัวร์ลง กลุ่ม ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เรียกกระบวนการทางกฎหมายนี้ว่า “คณะละครสัตว์ในห้องพิจารณาคดีที่ดำเนินการอย่างลับ ๆ ด้วยข้อหาปลอม ๆ เพื่อที่อองซานซูจี จะถูกจำคุกอย่างไม่มีกำหนด”
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ยังกล่าวหากองทัพว่า “ได้รับคำตัดสินลงโทษจากศาลจิงโจ้ในข้อกล่าวหาที่มีน้ำหนักเบาที่สุดและมีแรงจูงใจทางการเมือง” และ “เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทุกคน ตั้งแต่ซูจี จนถึงนักเคลื่อนไหวของขบวนการอารยะขัดขืนบนท้องถนน”
จากข้อมูลของ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซูจีเป็นหนึ่งในมากกว่า 10,600 คนที่ถูกจับนับตั้งแต่มีการปฏิวัติ และมีประชาชนถูกสังหารในระหว่างการประท้วงอย่างน้อย 1,303 คน
แม้จะมีการปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ยังมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องและมีกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยถึงจุดที่ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเตือนว่า เมียนมาอาจไถลเข้าสู่ “สงครามกลางเมือง”
ยังไม่รู้ว่า การตัดสินจำคุกซูจีล่าสุด จะเป็นชนวนให้สถานการณ์ถดถอยลงไปกว่าเดิมอีกหรือไม่ เนื่องจากมีการปิดกั้นการรายงานของสื่อและการสื่อสารของประชาชน แต่ที่แน่ ๆ ฟิตช์ โซลูชันส์ คันทรี ริสก์ แอนด์ อินดัสทรี รีเสิร์ช ระบุว่า เมียนมาน่าจะเกิด “Civil Conflict” ที่ยืดเยื้อ และอาจกินเวลาหลายปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและบรรยากาศในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ฟิตช์มองว่า เมียนมาน่าจะถูกโดดเดี่ยวจากทั่วโลกมากขึ้นโดยคาดว่า อาเซียนและชาติตะวันตกจะพยายามมากขึ้นเพื่อผลักดันกลับต่อการปฏิวัติ และ สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ดังนั้น รัฐบาลทหารเมียนมาไม่น่าจะได้เห็นชัยชนะในเร็ววัน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาล NUG มีระบบระเบียบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะปลดรัฐบาลทหารและสร้างระบอบสมาพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตย
หลักฐานที่สนับสนุนความเห็นของฟิตช์คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายป้องกันประเทศที่สนับสนุนและให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาล NUG ซึ่งช่วยให้รัฐบาล NUG สามารถพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกเพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทหารในระยะยาวได้
กฎหมายดังกล่าวของสหรัฐฯ ยังปฏิเสธความชอบธรรมและทรัพยากรต่อรัฐบาลทหาร ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความท้าทายมากขึ้นที่รัฐบาลทหาร จะฟื้นฟูการปกครองของพลเรือนในเมียนมาและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ในขณะเดียวกัน ฟิตช์ กล่าวว่า ภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในเมียนมา ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ประชาคมระหว่างประเทศจะมีบทลงโทษสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหาร ขณะนี้ NUG กำลังเตือนธุรกิจต่าง ๆ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารอย่างจริงจัง และได้มีการโจมตีเพิ่มต่อธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับทหารแล้ว
ฟิตช์ยังมองว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมียนมาก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจะมีการใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการลงทุนทางการทหาร และรัฐบาลทหารต้องเฝ้าระวัง NUG อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยังต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อจัดการความขัดแย้งบริเวณชายแดนอีก ดังนั้นจึงคาดว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะลดการสนับสนุนใด ๆ ต่อรัฐบาลทหาร และดึงดูดให้มีคนเข้าร่วมกับ NUG และกองกำลังติดอาวุธมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อออกไปอีก
ต้องจับตาสถานการณ์ในเมียนมาในปีนี้ให้ดีว่า มัน “สุกงอม” พอ และมี “ส่วนผสมครบ” ที่จะเกิด “สงครามกลางเมือง” เหมือนที่รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาว่าไว้หรือไม่ หากเกิดสงครามกลางเมืองจริง ประเทศไทยน่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในทุกมิติ และธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาน่าจะต้องพบกับสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้น หากเป็นไปตามที่ฟิตช์คาด