พาราสาวะถี
ยิ่งแก้ตัวยิ่งตอกย้ำ ดังนั้น แทนที่จะให้กระบอกเสียงรัฐบาลออกมาพูดแทน โทษสื่อขออย่ายุยงแตกแยก บิดเบือน ในสื่อหลายช่องทาง
ยิ่งแก้ตัวยิ่งตอกย้ำ ดังนั้น แทนที่จะให้กระบอกเสียงรัฐบาลออกมาพูดแทน โทษสื่อขออย่ายุยงแตกแยก บิดเบือน ในสื่อหลายช่องทาง ต้องช่วยกันทำงานให้ได้ต่อไป กับข่าวแก๊ง 3 ป.วงแตก ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขความเดือดร้อน ทุกข์ยากของประชาชนในภาวะข้าวยากหมากแพงเสียดีกว่า เมื่อไม่มีอะไรประสาพี่น้องเข้าใจกันก็ไม่เห็นต้องกังวลอะไร เพราะเวลานัดพบปะกันที่ไหน คุยอะไรกัน ก็ไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วยอยู่แล้ว
การให้กระบอกเสียงมาแก้ต่างมันก็เท่ากับการยอมรับไปในตัวนั่นแหละว่า ความบาดหมางที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่อาจจะประสานให้เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเมื่อก่อนได้ ท่วงทำนองของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ตามเก็บทุกเม็ดเล่นกับทุกดอกที่ถูกพาดพิงถึงนั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “พวกกลัวเสียเหลี่ยม” แต่หากเข้าใจการเมืองว่าด้วยการอยู่ยาวย่อมที่จะมีโอกาสเจอเรื่องที่ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะปมสนิมเกิดแต่เนื้อในตน ก็จะไม่เกิดอาการกระสับกระส่ายอย่างที่เป็นอยู่
เมื่อมาเจอเหตุการณ์พรรคสืบทอดอำนาจขับ ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมพวกรวม 21 คน ชนิดที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้รู้สึกดีใจที่จะได้ไม่ต้องทนเห็นคนที่เหม็นขี้หน้ากันอีกต่อไป แต่กลับคิดหนักเข้าไปอีก สถานการณ์เช่นนี้ปลายทางมันจะหนีไม่พ้นการเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ที่ทำให้ต้องเลือก ซึ่งก็มีแค่ 2 ทางคือ ยุบสภาหรือลาออก ประสาคนกลัวเสียเหลี่ยมไม่มีทางที่ท่านผู้นำจะเลือกอย่างหลัง คงใช้การคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง
เมื่อพูดถึงสนามเลือกตั้ง การอัปเปหิธรรมนัสออกจากพรรคสืบทอดอำนาจที่คนเชื่อว่าไม่ใช่ชัยชนะของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เพราะพอไปสแกนคะแนนเลือกตั้งซ่อมส.ส. 2 เขตที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่สงขลาคะแนนของพรรคสืบทอดอำนาจเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ไม่ได้ชูท่านผู้นำเป็นจุดขาย เช่นเดียวกับที่ชุมพรคะแนนเสียงก็ดีไม่แพ้กัน อันแสดงให้เห็นอำนาจบารมีและฝีมือในการจัดการของธรรมนัส มองจุดนี้ย่อมทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคิดหนักต่อการเดินเกมการเมืองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยสิ่งที่เผชิญอยู่เวลานี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าฝ่ายกุมอำนาจกำลังเหลือทางเดินที่ถูกบีบให้แคบลงเรื่อย ๆ โควิด-19 การระบาดของโอมิครอนไม่ได้สร้างความหนักใจให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะอย่างที่หวั่นเกรงกันก่อนหน้านั้น แต่ผลพวงของการที่หากโรคลดระดับความรุนแรงลง สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคือการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน ตรงนี้จะเป็นจุดหนักใจอย่างมหาศาลเพราะยังมองไม่เห็นทิศทางว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะใช้เครื่องมืออะไรมาดำเนินการ
มติจากที่ประชุมครม.วันวานที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้นั้นเริ่มร่อยหรอและหามาเติมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ อันจะเห็นได้จากโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่สามเฟสก่อนหน้าให้ใช้จ่ายได้ไม่เกินวันละ 300 บาทโดยที่สองฝ่ายแบ่งกันจ่ายคนละครึ่ง แต่หนนี้ในระยะเวลาดำเนินการคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนเพียงวันละ 150 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยมีการอ้างถึงยอดของการใช้จ่ายในเฟส 3 ที่ผ่านมาว่าอยู่ประมาณวันละ 158 บาทต่อคนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็อธิบายว่า เหตุที่ช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการนี้ลดลง เพราะเป็นไปตามกำลังซื้อที่มีการฟื้นตัว ไม่รู้ว่าไปสำรวจมาจากไหน หรือใช้สำนักไหนไปทำข้อมูลมารายงานให้ ในสถานการณ์เช่นนี้ถามว่าคนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อจริงหรือ นอกจากนี้ราคาสินค้าที่แพงขึ้นแต่ความช่วยเหลือจากรัฐกลับลดลง มันก็ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง เช่นนี้คงต้องเรียกว่า เป็นการช่วยแบบเสียมิได้ กระมัง
การเมืองที่บอกว่ายิ่งอยู่นานยิ่งเสี่ยงต่อการจะสะดุดขาตัวเองนั้น เชื่อว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจน่าจะเผชิญกับภาวะเช่นนี้อยู่ ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) ก็น่ารับฟังไม่น้อย แก๊ง 3 ป.ที่เคยเป็นจุดแข็งกลายเป็นจุดดับ พี่ใหญ่ของแก๊งแตกหักกับน้องเล็กที่เป็น “น้องในค่าย” แล้วเลือกที่จะไปเดิน “น้องในไส้” พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ และกลุ่มการเมืองในพรรคที่เป็นหน่วยขึ้นตรง
อย่างที่วิเคราะห์กันตั้งแต่วันที่มีการขับธรรมนัสและพวกออกจากพรรคสืบทอดอำนาจ เป็นการถูกขับไล่ที่ฝ่ายถูกกระทำพึงพอใจอย่างมากเสียด้วยซ้ำ อย่าลืมเป็นอันขาดว่า 20 หรือ 21 เสียงที่เดินจากมานั้น เมื่อรวมกับเสียงของพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่งมันก็คือกลุ่มการเมืองที่มีเสียงมากพอ และมีผลต่อรัฐบาลผสมหลายพรรคเช่นนี้ และถือเป็นเสียงอิสระที่จะเลือกไปยืนอยู่ฝั่งใดก็ได้ หากฝ่ายสืบทอดอำนาจต้องการใช้บริการเพื่อรักษาเสถียรภาพก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย และจะหนักหนาสาหัสกว่าที่ผ่านมาด้วย
มุมที่ณัฐวุฒิมองก็คือ ถ้า 8 ปีที่ผ่านมาทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงจะไม่เกิดสถานการณ์นี้ ที่กำลังเป็นอยู่น้ำเน่ายิ่งกว่าการเมืองของนักการเมืองทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นมุมหนึ่งคือการต่อรองเก้าอี้ แต่มองถึงที่สุดคือพวกเดียวกันเองลงมือไล่ ในฐานะที่ 1 ของรุ่นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจน่าจะคิดได้ ของแพง หนี้ท่วม ชาวบ้านจนกรอบไม่มีกิน แต่รัฐบาลมัวแย่งเก้าอี้กันเอง โดยที่ท่านผู้นำทำตัวเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว เช่นนี้แล้วคนไทยจะรอดจากวิกฤตได้อย่างไร
วันนี้ (25 มกราคม) มีปมร้อนที่ต้องติดตามคือการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือบอร์ดป.ป.ส. ที่จะมีการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดตามที่พรรคภูมิใจไทยเรียกร้อง ตรงนี้ก็เป็นเดิมพันของรัฐบาล เพราะหากประเด็นนี้ไม่เป็นไปตามที่พรรคร่วมรัฐบาลที่หาเสียงขายฝันไปแล้ว มันย่อมกระทบต่อความรู้สึก สร้างความไม่พอใจ และอาจตามมาด้วยการถอนยวงจากรัฐบาล อ่านท่าทีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคงต้องสั่งให้ผ่านเพื่อเสถียรภาพและการอยู่รอดร่วมกัน