เริ่มนับหนึ่ง กับ 4Gพลวัต2015

วันที่ 22 ตุลาคม สัปดาห์ที่ผ่านมา 4 ค่ายโทรคมนาคม ที่แสดงความต้องการได้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นโทรศัพท์ 900 MHz ได้พากันพร้อมเข้ายื่นเอกสารการประมูล ที่เรียกกันง่ายๆว่า “ซองเทคนิค” เพื่อเริ่มการประมูลอย่างเป็นทางการ จากจำนวนรายที่เข้ามาขอรับเอกสาร จากทั้งหมด 5 กลุ่มบริษัท


วันที่ 22 ตุลาคม สัปดาห์ที่ผ่านมา  4 ค่ายโทรคมนาคม ที่แสดงความต้องการได้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นโทรศัพท์ 900 MHz ได้พากันพร้อมเข้ายื่นเอกสารการประมูล ที่เรียกกันง่ายๆว่า “ซองเทคนิค” เพื่อเริ่มการประมูลอย่างเป็นทางการ จากจำนวนรายที่เข้ามาขอรับเอกสาร จากทั้งหมด 5 กลุ่มบริษัท

ก่อนหน้านี้ ผู้ที่สนใจจะเข้าประมูล 4 จี คลื่น 1800 MHz จำนวน 4 รายก็ได้ผ่านประกาศคุณสมบัติจาก กสทช.ไปแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม

เรียกว่า ยกแรกของการออกจากเส้นสตาร์ทการประมูลใบอนุญาต 4 จี (ที่ถูกต้องคือ 4G+LTE) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว  ก่อนจะถึงการประมูลจริงในวันที่ 15 พฤศจิกายน สำหรับคลื่น 1800 MHz และในวันที่ 18 พฤศจิกายน สำหรับคลื่น  900 MHz

การรอคอยยาวนานหลายปีของคนไทย (หลังจากที่ถูกศาลปกครองตีความว่าเป็นการอนุญาตที่ไม่ถูกต้องและโมฆะ และต่อมา คสช.สั่งเบรกการประมูลมาอีกครั้ง) ในการมีส่วนร่วมสัมผัสและใช้ประโยชน์จากคลื่นโทรคมนาคม 4 จี กำลังจะสิ้นสุดลง และเริ่มต้นยุคใหม่เสียที  เพราะค่อนข้างล้าหลังชาติอื่นๆ  นับตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน เกาหลีใต้เริ่มทดลองให้ 4G ก่อนชาติอื่นๆ จนกระทั่งมีกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งชาติอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้าน (ยกเว้นเมียนมาร์)

ความนิยมของ 4G รุนแรงมาก จนกระทั่งอุปกรณ์พกพาและสมาร์ทโฟนทั่วโลกรุ่นใหม่ล่าสุด ได้ออกแบบมารองรับ  4G กันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่อุปกรณ์ที่เคยใช้  3G กลายเป็นสินค้าตกรุ่นใช้การไม่ได้หลายประเทศ

เทคโนโลยี 4 จี คือคำตอบสำหรับการแก้โจทย์ใหญ่สุดของธุรกิจโทรคมนาคม นั่นคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของอุปสงค์ในตลาดผู้ใช้ที่เคลื่อนย้ายโครงสร้างจากพฤติกรรมการใช้เสียงไปสู่ไม่ใช้เสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการหรือโอเปอเรเตอร์ยังไม่สามารถสนองตอบความต้องการเปลี่ยนโครงสร้างนี้ได้ดีเพียงพอ

โจทย์สำคัญของธุรกิจนี้คือ เน้นหนักที่ ความเร็วต้องได้ และ คุณภาพต้องเสถียร

ความเร็วต้องได้ ก็คือ เมื่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตเคลื่อนจากการสนทนาด้วยเสียง ไปสู่การสนทนาด้วยเสียง พร้อมภาพ และข้อความ เสมือนกับวิดีโอทอล์ก ผู้ให้บริการมีภารกิจต้องสรรหาคลื่นความถี่ และบริการที่สนองตอบ ตามที่ผู้บริโภคต้องการให้ได้ เพราะเทคโนโลยีเดิมคือ เทคโนโลยีระยะเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า 3G +LTE ไม่สามารถตอบสนองได้ดีเพียงพอ

4G+LTE สามารถสนองตอบการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลทั้ง voice  และ non-voice ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ เพราะการสื่อสารผ่าน non-voice จะเป็นการสื่อสารหลัก โดยมี voice เป็นช่องทางรอง เปรียบได้ง่ายคือ 4 จี คือ ซุปเปอร์ไฮเวย์ ในขณะที่ 3 จีคือ ทางหลวงชนบท ส่วน 2 จีคือ ถนนลูกรัง

จุดเด่นของเทคโนโลยี 4G+LTอยู่ที่มีพัฒนาการที่สำคัญมากกว่า 3G ในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ นอกเหนือจากยกระดับการรับส่งข้อมูลได้สูงสุด 1 Gbps จากต้นทาง และ 100 Mbps ที่ปลายทางทุกหนแห่งภายในเครือข่าย ซึ่งรวดเร็วประมาณ 5-10 เท่าของปัจจุบัน ทำให้รองรับการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก เรื่องเสียงเป็นรอง โดยที่ในการใช้งานของเครื่องลูกข่าย แทบจะไม่มีสะดุด

 ปัจจุบันพัฒนาการของระบบสำรองข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Cloud Computing ซึ่ง เติบโตปีละมากกว่า 100%จะยิ่งทำให้การนำ 4G+LTE มาใช้ ขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับเมืองไทย การประเมินเบื้องต้นของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. คาดหมายว่า การประมูล 4 จี รอบนี้ จะทำให้เม็ดเงินสะพัดมากกว่า 2.3 แสนล้านบาททั้งในทันทีและต่อเนื่อง โดยเป็นเงินค่าใบอนุญาตเบื้องต้น 7.34 หมื่นล้านบาท และการลงทุนอื่นๆ ต่อเนื่อง 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงการเติบโตของจีดีพี.ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

 การประเมินข้างต้น นักธุรกิจในแวดวงโทรคมนาคมบอกว่าน้อยเกินไป จริงแล้วควรจะคูณด้วย 2 เป็นอย่างต่ำ

 หลายปีที่ผ่านมา มักจะมีฝ่ายที่ถ่วงรั้งการออกใบอนุญาตคลื่น 4 จี ชอบนำเอาเหตุผลของไดโนเสาร์มาตั้งเงื่อนไขเสมอมาว่า ไม่เหมาะสมหรือไม่จำเป็น เพราะเร็วเกินไปสำหรับประเทศไทยนั้น โดยที่หลบเลี่ยงการตอบคำถามว่า หากเทคโนโลนี  4G ไม่เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศแล้ว ทำไมทุกชาติในโลกจึงต้องแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อสร้างมันขึ้นมา

ข้อเท็จจริงมากมายร่วมสมัยได้ตอกย้ำว่า ธุรกรรมในโลกปัจจุบัน ได้เคลื่อนย้ายจากตลาดเชิงกายภาพ (physical market) ไปสู่ตลาดเสมือน (virtual market) ซึ่งในทางเทคโนโลยีคือ การเคลื่อนตัวจากโลกอะนาล็อกไปสู่โลกดิจิตอล กลายเป็น อี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซ มากขึ้นในอัตราเร่ง

การประมูล  4 จี ที่จะเริ่มขึ้นเพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ภายในไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้า จะสร้างความมั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการของไทยจำนวนมากในอนาคต  จะสามารถสนองตอบการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลทั้ง voice และ non-voice ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

หากมองข้ามการแข่งขันระหว่างค่ายโทรคมนาคมที่จะเข้าแข่งขันด้วยเงินเดิมพันมหาศาลทั้งในการประมูล และหลังการประมูลไปแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า การประมูล 4 จี จำนวน 4 ใบในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะให้คำตอบได้ชัดเจนว่า นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ออกมาเสมือน “ยาแก้อาการ” ของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่สามารถหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวอันเป็น  “ยารักษาสมุหฐาน” ได้อย่างจริงจัง

เพราะนี่คือการลงทุนใหญ่ในสาธารณูปโภค อันเป็นตัวขับเคลื่อนเชิงรุกทางเศรษฐกิจโดยที่ไม่ต้องอาศัยเงินงบประมาณของประเทศเลยแม้แต่บาทเดียว แต่เป็นเงินของภาคเอกชนล้วนๆ

ข่าวดีของการประมูล 4 จี  ดีกว่าคำโฆษณาชวนเชื่อของ เสธ.ไก่อู  และ คำพูดทุกวันศุกร์ของนายกรัฐมนตรี หลายเท่านัก และเป็นข่าวดียิ่งสำหรับนักลงทุนในหุ้นกลุ่มสื่อสาร

 

 

Back to top button