‘ภูมิศาสตร์การเมือง’ ปัจจัยเสี่ยงล่าสุด

ในขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังลุ้นกับการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐในคืนวันพุธนี้ และมีการฟันธงกันจากโกลด์แมน แซคส์แล้วว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าสี่ครั้งในปีนี้เพราะเงินเฟ้อยังพุ่งไม่หยุด ตลาดต้องมาพบกับความกังวลเพิ่มจากปัจจัยเสี่ยง “ภูมิศาสตร์การเมือง” ที่เกี่ยวกับ ยูเครนและไต้หวัน


ในขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังลุ้นกับการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐในคืนวันพุธนี้ และมีการฟันธงกันจากโกลด์แมน แซคส์แล้วว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าสี่ครั้งในปีนี้เพราะเงินเฟ้อยังพุ่งไม่หยุด ตลาดต้องมาพบกับความกังวลเพิ่มจากปัจจัยเสี่ยง “ภูมิศาสตร์การเมือง” ที่เกี่ยวกับ ยูเครนและไต้หวัน

ทั้งสองเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่เพิ่งกลับมาร้อนระอุและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวและไม่น่าวางใจได้ในขณะนี้

เริ่มจากเรื่องไต้หวันก่อน รัฐบาลไต้หวันเพิ่งแถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า จีนส่งเครื่องบินรบ 39 ลำ เข้าสู่โซนป้องกันทางอากาศ (ADIZ) ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำครั้งใหญ่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 เมื่อจีนได้ส่งเครื่องบินรบ 59 ลำ

ไต้หวันเพิ่งเริ่มเผยแพร่ข้อมูลการโจมตีทางอากาศของจีนเมื่อเดือนกันยายน 2563 เท่านั้น แต่การเพิ่มจำนวนเครื่องบินรบไปขู่ไต้หวันในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงสุด นับตั้งแต่ที่รัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันนับตั้งแต่ ไช่ อิงเหวิน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2559 เนื่องจาก ไช่ ประกาศชัดเจนว่า ไต้หวันเป็นประเทศ “อธิปไตย” และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว”

จากข้อมูลของเอเอฟพี ในปีที่ผ่านมา ไต้หวันสามารถบันทึกการจู่โจมในเขต ADIZ จากเครื่องบินรบจีนได้ถึง 969 ครั้ง ซึ่งมากกว่าสองเท่าของ 380 ครั้งเมื่อปี 2563

นั่นแสดงให้เห็นว่า จีนจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ และเรื่องไต้หวัน น่าจะสร้างความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ มากขึ้น นอกเหนือจากเรื่องการค้าที่ยังคาราคาซังและยังไม่มีทางออก

ในวันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็แนะนำให้ผู้ที่มีสัญชาติอเมริกันทั้งหมดออกจากยูเครนโดยทันที โดยอ้างว่า รัสเซียกำลังเพิ่มกำลังทหารเป็นพิเศษบริเวณชายแดน นอกจากนี้ยังสั่งให้สมาชิกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟออกจากยูเครนเช่นกันเนื่องจากความปลอดภัยลดลง

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ชาติตะวันตกได้จับตารัสเซียที่ได้เพิ่มกองกำลังและติดตั้งอุปกรณ์ในบริเวณชายแดนยูเครน เพราะว่าการเพิ่มกำลังทหารในลักษณะนี้ของรัสเซีย ได้นำไปสู่การผนวก “ไครเมีย” ซึ่งเป็นคาบสมุทรในทะเลดำ เข้าเป็นดินแดนของรัสเซียเมื่อปี 2557 จนจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลมอสโก และ การยึดไครเมียยังทำให้รัสเซียต้องออกจากกลุ่ม G-8 ด้วย

การเตือนล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นไม่ถึงสองวันหลังจากที่มีการหารือตัวต่อตัวระหว่างรัฐบาลมอสโกและวอชิงตัน และการพบกันของรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศ มีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ตะวันตกหลายรายซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้คาดการณ์ว่า รัสเซียจะบุกยูเครน และหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้ระบุว่า รัสเซียอาจโจมตียูเครนภายในหนึ่งเดือน

สิ่งที่หลายคนกังวลคือ รัสเซียจะบุกยูเครนจริงหรือไม่ และสหรัฐฯ จะส่งกองกำลังเข้าร่วมกับพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือไม่

แม้รัสเซียปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้วางแผนโจมตีใด ๆ แต่ก็เคยยึดดินแดนยูเครนมาก่อน เมื่อชาวยูเครนโค่นล้มประธานาธิบดีที่สนับสนุนรัสเซียในช่วงต้นปี 2557 รัสเซียได้ผนวกคาบสมุทรไครเมียทางตอนใต้ของยูเครนและสนับสนุนกลุ่มแยกดินแดนซึ่งยึดพื้นที่ในภาคตะวันออกของยูเครน กลุ่มกบฏได้ต่อสู้กับกองทัพยูเครนนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง จนคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,000 คน

ขณะเดียวกัน รัสเซียต้องการต่อต้านการเคลื่อนไหวของยูเครนที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต และต้องการให้ชาติตะวันตกสัญญาว่าจะไม่ยอมให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในนาโตเพราะนั่นหมายถึงว่า หากรัสเซียรังแกยูเครน นาโตต้องปกป้องสมาชิก นอกจากนี้รัสเซียยังต้องการให้นาโตหยุดขยายแนวรบไปทางทิศตะวันออกและยุติกิจกรรมทางทหารในยุโรปตะวันออก ซึ่งหมายถึงการถอนหน่วยรบออกจากโปแลนด์และสาธารณรัฐในทะเลบอลติกซึ่งได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย และไม่ให้ติดตั้งขีปนาวุธในประเทศต่าง ๆ เช่น โปแลนด์และโรมาเนีย

ยูเครนมีพรมแดนติดกับทั้งสหภาพยุโรปและรัสเซีย แต่ในฐานะอดีตสาธารณรัฐโซเวียต ยูเครนมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกับรัสเซีย และมีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างแพร่หลาย

ความตึงเครียดในขณะนี้อยู่ในระดับสูง จนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันว่าเหมือนกับ “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” ในปี 2505 เมื่อสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตใกล้เกิดความขัดแย้งทางนิวเคลียร์

ด้านสหรัฐฯ แม้ได้ประกาศชัดว่าไม่มีแผนการที่จะส่งกองกำลังสู้รบ แต่ในขณะเดียวกันก็สัญญาว่าจะช่วยเหลือยูเครนป้องกันอธิปไตย และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไบเดนได้สั่งให้ทหาร 8,500 นายเตรียมพร้อมต่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในยูเครน

มีการคาดการณ์ว่า เครื่องมือหลักของชาติตะวันตกน่า จะเป็นการคว่ำบาตรและความช่วยเหลือทางทหารในรูปแบบของที่ปรึกษาและอาวุธ โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจขั้นสุดท้ายคือการยกเลิกระบบธนาคารของรัสเซียจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ แต่ก็มองกันว่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และอาจมีการปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียในเยอรมนี ซึ่งขณะนี้เยอรมนีกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดใช้ นอกจากนี้อาจมีมาตรการที่พุ่งเป้าไปยังกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของรัสเซีย (RDIF) หรือควบคุมธนาคารในการแปลงเงินรูเบิลเป็นสกุลเงินต่างประเทศ

ยังไม่รู้ว่าปัญหายูเครนจะจบลงที่ใด แม้รัฐบาลวอชิงตันมุ่งมั่นที่จะจับมือกับพันธมิตร แต่ในขณะนี้ก็มีรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปเช่นกัน ผู้นำยุโรปยืนกรานว่า รัสเซียกับสหรัฐฯ ไม่สามารถตัดสินใจในอนาคตได้เพียงลำพัง โดยฝรั่งเศสเสนอให้ยุโรปทำงานร่วมกับนาโตและดำเนินการเจรจากับรัสเซียด้วยตนเอง

ส่วนเรื่องไต้หวัน มีแนวโน้มชัดเจนมาตั้งนานแล้วว่า เป็นเรื่องของเวลาเท่านั้นว่าจีนจะผนวกเป็น “จีนเดียว” เมื่อไหร่ แต่ก็ชัดเจนเช่นกันว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังไม่พร้อมที่จะปล่อยให้เรื่องไต้หวันบานปลายกลายเป็นสงคราม และน่าจะคงสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ต่อไป จนกว่าจีนจะมั่นใจในแสนยานุภาพทางทหารของตนเองอย่างเต็มที่ และในขณะนี้จีนยังมีปัญหาในประเทศรุมเร้าอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ ปัญหา “ภูมิศาสตร์การเมือง” จะยังคงกระพริบบนจอเรดาร์ของนักลงทุนต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่านักลงทุนจะประเมินได้ว่า อะไรจะมีผลกระทบมากกว่ากันระหว่างสองวิกฤตนี้ กับ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากเงินเฟ้อ  และ การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าใกล้จะจบหรือยังไม่จบ

Back to top button