PTTEP โอกาส & ความเสี่ยง.?
เกิดความกังวลกันทั้งบาง..!! กรณีสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ทำให้ทุนต่างชาติระดับโลกทยอยถอนตัวออกไป ก็เกรงกันว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราที่ไปหากินในเมียนมาจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือเปล่า..?
เกิดความกังวลกันทั้งบาง..!! กรณีสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ทำให้ทุนต่างชาติระดับโลกทยอยถอนตัวออกไป ก็เกรงกันว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราที่ไปหากินในเมียนมาจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือเปล่า..?
อย่างกรณีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ประกาศชัดขอถอนตัวในโครงการยาดานา และจะโอนหุ้นไปยังผู้ถือหุ้นที่เหลือ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใน 6 เดือน
…ก็น่าคิด แล้วโครงการอื่น ๆ ล่ะ จะเกิดขึ้นตามมาหรือเปล่า..? จะกระทบต่อ PTTEP หรือเปล่า..?
โดยเหตุการณ์ล่าสุดเป็นการถอนตัวของโททาลฯ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการยาดานา สัดส่วน 31.23% ในขณะที่ PTTEP ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25.5%
จุดที่น่าสนใจ…โครงการยาดานาเป็นแหล่งที่มีการผลิตอยู่แล้ว ในปี 2564 มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซฯ ให้กับประเทศไทยประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา และคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา
บ่งบอกว่า การถอนตัวของโททาลฯ นั้นไม่ได้เกิดจากความเสียหายหรือแหล่งก๊าซมีปัญหา แต่เกิดจากปัจจัยภายนอก…
ดังนั้น ถ้ามองมุมบวก ก็อาจเป็นโอกาสของ PTTEP ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 25.5%..!?
ส่วนผลเสีย เมื่อพันธมิตรถอนตัวออกไป การรักษาสัดส่วน หรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของ PTTEP จะคุ้มค่าหรือเปล่า..? อันนี้น่าคิด โอเค…แม้โครงการนี้ไม่ต้องใส่เงินลงทุนเพิ่มมากเพื่อให้การดำเนินงานเดินต่อไปได้ โดยคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินงาน 5 ปีที่ PTTEP วางไว้ แต่ก็คงมีคำถามตามมาว่า คุ้มค่าหรือไม่..?
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อกรณีนี้น่าสนใจ โดยมองอาจส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ..!!
กรณีเป็นบวก…หากไม่มีมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศต่อเมียนมา PTTEP จะได้ประโยชน์จากสัดส่วนในโครงการยาดานาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาขายก๊าซสูงกว่าแหล่งในไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มแรก ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในยาดานา อาจสูงเป็น 63% หากทั้งโททาลฯ และเชฟรอนถอนตัว
โดยคาดว่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในยาดานาจะช่วยเพิ่มยอดขายและกำไรของ PTTEP จาก 2% และ 6% ในปัจจุบัน เป็น 3% และ 8% ภายใต้การถอนตัวของโททาลฯ และเพิ่มเป็น 5% และ 14% หากทั้งโททาลฯ และเชฟรอนถอนตัว โดยคิดเป็นอัพไซด์ต่อมูลค่าหุ้น 3.10-5.10 บาทต่อหุ้น
ส่วนด้านลบ…การถอนตัวของทุนต่างชาติ ยังบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นที่นานาชาติจะคว่ำบาตรเมียนมาในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ไม่ได้คาดการณ์ว่าการผลิตก๊าซจากโครงการยาดานาและซอติก้าจะถูกระงับจากปัจจัยนี้ แต่การลงทุนใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะหยุดและล่าช้าออกไป
อย่างไรก็ตาม กรณีเลวร้ายสุด หากทุกโครงการถูกระงับ โดยเฉพาะโครงการยาดานาและซอติก้า คาดว่ายอดการผลิตก๊าซธรรมชาติและกำไรของ PTTEP จะลดลงสูงถึง 8% และ 20% ซึ่งหมายถึงดาวน์ไซด์ต่อมูลค่าหุ้นของ PTTEP ที่ 9.70–11.70 บาทต่อหุ้น
เอาเป็นว่า จะดีหรือร้าย..? จะเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง..? ยังไม่มีใครตอบได้…แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้แล้ว โครงการยาดานาอาจไม่ใช่แหล่งแรกและแหล่งสุดท้ายก็ได้นะครับพี่น้อง..!?
…อิ อิ อิ…