กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ออเดอร์พุ่งปี 65
หากการผลิตรถยนต์ในปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 6.78% จะส่งผลต่อออเดอร์กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ทำให้รายได้ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
เส้นทางนักลงทุน
จากกรณี นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในปี 2565 ได้ประมาณการการผลิตรถยนต์ ประมาณ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้น 114,295 คัน คิดเป็นร้อยละ 6.78 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,000,000 คัน เท่ากับร้อยละ 55.56 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน เท่ากับร้อยละ 44.45 ของยอดการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้การผลิตเพื่อการส่งออก 1,000,000 คัน เป็นการปรับเพิ่มเป้าหมายจากปีก่อน ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ผลิตได้ 729,175 คัน แต่ยังคงติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งจะยังคงทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศบางแห่งขาดชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์บางชิ้น ทำให้ต้องชะลอการผลิตบางรุ่นลงชั่วคราว
ขณะที่เป้าหมายการผลิตรถจักรยานยนต์ในปี 2565 อยู่ที่ 2,000,000 คัน มากกว่าปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 1,780,654 คัน เพิ่มขึ้น 219,346 คัน คิดเป็นร้อยละ 12.31 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 350,000 คัน เท่ากับร้อยละ 17.50 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,650,000 คัน เท่ากับร้อยละ 82.50 ของยอดการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะวางเป้าเพิ่มเป้าหมายการผลิต ยังกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน และเซมิคอนดักเตอร์บางชิ้น ทำให้ต้องชะลอการผลิตบางรุ่นลงชั่วคราวในผู้ผลิตบางแห่งก็ตาม
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ จากการคาดหมายว่าปี 2565 ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจะเพิ่มขึ้นมากถึง 6.78% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี 2565 อยู่ที่ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.78% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยจากปี 2564 ที่มีการผลิตอยู่ที่ 1,685,705 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,000,000 คัน เท่ากับ 55.56% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน เท่ากับ 44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด
ดังนั้นประเมินว่าทำให้หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ประโยชน์ ได้แก่ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) หรือ IHL, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY, บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC
บริษัท สยามภัณฑ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPG, บริษัท ยัวซ่าแบตเตอรี่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ YUASA, บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH, บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ HFT, บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ TSC, บริษัท อีซึ่น แอนด์ โค จำกัด (มหาชน) หรือ EASON, บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ GYT, บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT
บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU, บริษัท ไทยนามพลาสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNPC, บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR, บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS, บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI, บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT, บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG และบริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG
รวมถึง บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยานยนต์โดยตรง แต่ขายชิ้นส่วนให้ลูกค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในสัดส่วนที่สูง รวมไปถึงปัจจัยบวกจากการคาดหมายแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อย่างไรก็ดีเลือก AH, IHL, STANLY และ SAT เป็นหุ้นเด่น
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน่าสนใจว่าแนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 จะเติบโตโดดเด่น เช่น บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ขณะที่ บล.ฟิลลิป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สำหรับภาพรวมปี 2565 เบื้องต้นประเมินผลดําเนินงานมีโอกาสเติบโตเด่น ทำสถิติใหม่ทั้งทางด้านยอดขายและกําไรสุทธิหลังได้แรงหนุนบวกจาก 1) การปรับราคาขายสินค้าขึ้นที่ค่อย ๆ เริ่ม มีผลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบการลดลงของมาร์จิ้น
2) ยอดคําสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทยอยรับรู้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไปจำนวน 3 รายการ มูลค่ารวมเกือบ 500 ล้านบาท/ปีและ 3) โอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ภายหลังการปรับโครงสร้างกิจการเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่แล้วเสร็จในปี 2564 จากการโอนธุรกิจเดิมของ SAT ไปยัง บจก. สมบูรณ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี (SFT) (บริษัทย่อยของ SAT) ซึ่งทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ และช่วยเพิ่มโอกาสในการหาพันธมิตร โดยที่ไม่ต้องร่วมลงทุนหรือรับความเสี่ยงในธุรกิจอื่น ๆ ของกลุ่มบริษัท
ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2565 คาดยังฟื้นตัวได้ต่อจากปี 2564 ทั้งนี้เบื้องต้น SAT ประเมินตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ที่ 1.7-1.8 ล้านคัน เหมือนกับตัวเลขทั้งทาง ส.อ.ท. ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คาดจะจบที่ 1.68 ล้านคัน หลังตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ 11 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 1.53 ล้านคัน
ด้วยแนวโน้มผลดําเนินงานที่คาดสดใสในปี 2565 หลังมีแรงหนุน ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นต่อและยอดคําสั่งซื้อที่จะเข้ามาใหม่ เบื้องต้นทางฝ่ายจึงปรับกําไรสุทธิปี 2565 ขึ้นเป็น 1,070 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานรายได้จากการขายและบริการคาดเติบโต 9.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 19.7% พร้อมทั้งปรับราคาพื้นฐานปี 2565 ขึ้นเป็น 26.25 บาท (จากเดิม 24.60 บาท) ยังคงคำแนะนํา “ซื้อ”
เช่นเดียวกับ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ขณะที่ บล.ฟิลลิป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งเบื้องต้นทาง ส.อ.ท. คาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ปี 2565 จะอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 6.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จะช่วยหนุนผลดำเนินงาน STANLY กลับมาฟื้นตัว อีกหนึ่งโอกาสที่กำลังเป็นกระแสอย่างมากกับประเด็น รถยนต์ไฟฟ้า EV
โดยประเมินว่าบริษัทก็มีโอกาสได้เช่นกัน เนื่องจากสินค้าของบริษัท ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์นั้น ยังคงเป็ นสิ่งสำคัญและจำเป็นทั้งรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัท, การผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ควบคู่กับพันธมิตรภายในเครือของบริษัทแม่ ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้คาด STANLY จะมีโอกาสและได้เปรียบมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจเดียวกัน โดยในส่วนของประเทศไทย ล่าสุดมีการออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลายลงจนสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติอีกครั้ง ทำให้ประเมินกำไรสุทธิครึ่งหลังของปี 2565 ของ STANLY คาดมีโอกาสเติบโตดีกว่าครึ่งแรกของปี 2565 จากแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2565 ที่คาดจะออกมาดี และดีต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2565
โดยส่งผลต่อการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 (สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2566) ขึ้นเป็น 1,532 ล้านบาท (จากเดิม 1,419 ล้านบาท) เติบโต 44.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และคาดโตต่อ 10.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนปี 2566 เป็น 1,693 ล้านบาท พร้อมปรับไปใช้ราคาพื้นฐานปี 2566 ที่ 232.00 บาท อิง P/E 10.5เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง 5 ปี และเมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบันพบว่า ยังมี Upside อีกมาก
นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และถือเป็นผู้เล่นที่คาดได้รับอานิสงส์บวกทุกยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์
ดังนั้นหากการผลิตรถยนต์ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 6.78% เบื้องต้นคาดส่งผลต่อออเดอร์ที่จะเข้ามายังกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งให้รายได้ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง