พาราสาวะถี

กำลังจะผ่านเดือนแรกของปีเสือไป หนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมา สถานการณ์บ้านเมืองต้องยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวน่าสนใจหลายประการ


กำลังจะผ่านเดือนแรกของปีเสือไป หนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมา สถานการณ์บ้านเมืองต้องยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวน่าสนใจหลายประการ ประเดิมต้นปีด้วยข่าวดีกับการที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อฟื้นความสัมพันธ์อันดีต่อกันหลังจากหมางเมินห่างเหินกันมานานกว่า 3 ทศวรรษ รอติดตามอานิสงส์จากการหารือรอบนี้ ตลาดแรงงานของไทยจะกลับมาสดใสเหมือนเดิมหรือไม่ และการท่องเที่ยวจะดีขึ้นหรือเปล่าหากโควิด-19 คลี่คลาย

แต่ดูเหมือนว่ายังต้องติดตามกันใกล้ชิด ประชาชนก็อย่าสับสนกับเป้าหมายของฝ่ายกุมอำนาจ โดยเฉพาะนักการเมืองและหมอการเมือง ที่บริหารกระทรวงคุณหมอต่อการตั้งเป้าจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จนทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการระบาดไม่น่าห่วงและน่าจะเบาใจได้ ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องของสายพันธุ์อย่างโอมิครอนที่พบว่าระบาดได้เร็วแต่ไม่รุนแรง จึงทำให้เห็นยอดติดเชื้อเพิ่มแต่คนป่วยหนักและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะรีบด่วนประกาศว่าโควิด-19 จะไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไปแล้ว เข้าใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขโดยหมอการเมืองรับนโยบายมาจากนักการเมือง ในการที่จะทำให้คนคลายความกังวล แล้วหันไปใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ เพื่อหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลก็หมดปัญญาที่จะหาเงินมาใช้ดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เงินที่กู้มาก็ใกล้จะหมด เห็นได้จากมาตรการช่วยเหลือที่เข้าสู่ภาวะกระเหม็ดกระแหม่เต็มที จะกู้ใหม่ชาวบ้านก็ไม่น่าจะแฮปปี้

ทั้งนี้ เรื่องโควิดกับการเป็นโรคประจำถิ่นนั้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อ แม้นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศว่าต้องอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 1 หมื่นรายต่อเนื่องกันยาวนานในช่วงเวลาหนึ่ง ประเมินควบคู่กับอัตราการป่วยหนัก จำนวนผู้เสียชีวิต ตลอดจนไปถึงระบบสาธารณสุขที่สามารถดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ แต่หมออาชีพไม่ได้มองเช่นนั้น และมีคำอธิบายเรื่องโรคประจำถิ่นต่างไปจากที่กระทรวงสาธารณสุขสื่อสารเสียด้วยซ้ำ

โดยศาตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายเรื่อง โควิด-19 กับความหมายโรคประจำถิ่น ได้อย่างน่าสนใจ คำว่าโรคประจำถิ่นที่จริงมาจาก endemic เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่น โรคไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง หรือ MERS ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า pandemic

โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดเฉพาะถิ่นหรือประจำถิ่น โรคระบาดจะมีโรคติดต่อทั่วไป เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีนก็ไม่เรียกว่าโรคประจำถิ่น โรคติดต่อมีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็น “โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง”

การประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย และมีพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติเพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล ในอนาคตถ้าความรุนแรงของโรคลดลงก็ไม่ได้ใช้กฎหมายดังกล่าวมาควบคุม

โรคโควิด-19 จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคประจำถิ่น เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น แต่ถ้าในอนาคตโรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล รักษาตัวในไอซียู อัตราการเสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสลดความรุนแรงลง ถ้าโรคนี้คล้ายไข้หวัดใหญ่ก็จะเรียกว่าโรคโควิด-19 ตามฤดูกาล เช่น จะระบาดมากในฤดูฝน หรือโรคติดต่อทั่วไป

ดังนั้น อาจจะมีการเถียงกันว่ามันน่าจะต่างกันแค่คำเรียกระหว่างโรคประจำถิ่นกับโรคติดต่อทั่วไป ที่หมออาชีพกับหมอการเมืองมองต่างมุม แต่เรื่องนี้จะต้องอธิบายให้ชัดเพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะความหมายของโรคประจำถิ่นนั้น มันดูเหมือนว่าจะทำให้ประชาชนคลายความกังวลจนถึงขั้นไม่ระมัดระวังตัวหรือตั้งการ์ดสูง แม้จะไม่ถึงขั้นเหมือนกับโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง แต่ถ้าบอกว่ายังเป็นโรคติดต่อทั่วไปที่ยังน่ากังวล คนก็จะไม่ได้ลดการ์ดลงหรือละเลยที่จะป้องกันตัวเอง

เช่นเดียวกันกับกรณีที่ผู้บริหารกระทรวงคุณหมอ พยายามยัดเยียดเรื่องการระบาดในระลอกนี้เป็นการขาดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้ และประชาชนที่ยังคงตั้งวงสังสรรค์ ทั้งที่ความจริงส่วนหนึ่งฝ่ายกุมอำนาจต้องเข้ามามีส่วนแสดงความรับผิดชอบต่อการปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา จนทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ เมื่อไปตรวจดูกระบวนการสอบสวนโรค ส่วนใหญ่ในแทบทุกจังหวัดมีต้นตอมาจากผู้เดินทางมาจากเมืองหลวงทั้งสิ้น

การเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคสืบทอดอำนาจ รวมไปถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กลับมามีเครื่องหมายคำถามอีกครั้ง เมื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังขาต่อการไม่ประกาศเรื่องวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้ชัดเจน ทำเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เหมือนคนมีอำนาจเก็บงำไว้ว่าเมื่อไหร่กันแน่ความชัดเจนควรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เก็บไต๋ไว้แล้วคอยดูว่า “เมื่อไหร่จะได้เปรียบ-เสียเปรียบกันแล้วจึงตัดสินใจ”

ตามมาด้วยการกระทุ้งจากคนพรรคเก่าแก่ ผู้มีอำนาจต้องกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนเพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ได้เลือกบุคคลที่อาสาตัวตามระบอบประชาธิปไตย มาทำงานตอบโจทย์ความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ มิใช่ปล่อยให้คนกรุงมองอนาคตไม่เห็น แต่กลับเห็นแต่ผู้ว่าฯ กทม.ทำงานตามโจทย์เก่าจากยุคคสช. และยังสืบทอดมาพร้อมกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่ทำให้คนมีอำนาจสำเหนียก มิหนำซ้ำ หากเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 9 กทม. คนของตัวเองปราชัย ยิ่งน่าสนใจว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปีนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่

Back to top button