ESG ธุรกิจยั่งยืน..นักลงทุนยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) กำลังได้รับความสนใจกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) กำลังได้รับความสนใจกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัท ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งกิจการและสังคมมากขึ้น

เพราะนั่นหมายถึงการสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทน ที่ไม่ใช่เพียงผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลของธุรกิจ สถิติช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า มีการออกตราสารหนี้ลักษณะนี้ทำสถิติสูงสุดกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีการประเมินว่าปีนี้อยู่ที่ 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

การวิเคราะห์ข้อมูล ESG กลายเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ถือว่าเป็นพัฒนาการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการลงทุน โดย BlackRock บริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกาศว่าการวิเคราะห์เรื่อง Sustainability ผ่าน ESG Performance ของบริษัทเป้าหมาย เป็นมาตรฐานใหม่ในการลงทุน โดยบริษัทที่มีความเสี่ยง (ESG Risk) สูง เมื่อทำการวิเคราะห์แล้วจะถูกหลีกเลี่ยงเข้าลงทุน ในทางกลับกันบริษัทที่บริหาร ESG Risk ได้ดีจะถูกกำหนดให้เป็น Good Companies เป็นเป้าหมายเพิ่มน้ำหนักการลงทุนต่อไป

มุมมองของนักลงทุนหุ้นที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างยิ่ง โดยมีการออกแบบแนวการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ อาทิ 1) Sustainable and Responsible Investing (SRI) เป็นแนวการลงทุนโดยพยายามค้นหาบริษัทที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ (Negative Screening) ออกจากพอร์ตการลงทุน เช่น หุ้นเกี่ยวกับธุรกิจยาสูบ หรือหุ้นที่ธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงลบและเป็นอันตรายต่อส่วนรวม

2) Ethical Investing มีบางอย่างที่คล้ายกับกรณี SRI เช่น การไม่ลงทุนหุ้นกลุ่มที่สร้างผลกระทบทางด้าน ESG แต่สิ่งที่แตกต่าง โดยมีการระบุชัดเจน เช่น ยาสูบ แรงงานเด็ก ละเมิดสิทธิ เป็นต้น 3) Impact Investing เป็นการลงทุนที่ให้ความสนใจทั้งด้านอัตราผลตอบแทนที่ดีและธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เริ่มมีการกำหนดขอบเขตของการรายงานที่มีความลึกขึ้น อาทิ พลังงานทดแทน, เทคโนโลยีสะอาด หรือ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

ปัจจุบันมีองค์กรต่าง ๆ จัดตั้งดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดว่าบริษัทต่าง ๆ มีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวคิด ESG มากน้อยอย่างไร ทั้งดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), FTSE4Good Index, MSCI ESG Index เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ESG กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น บริษัทจดทะเบียนหลายราย มีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุนและสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการลงทุนธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี แต่ต้องประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ผลการสำรวจขององค์การสหประชาชาติ ด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) พบว่า มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน

ภายในปี 2573 บริษัทที่ไม่มี ESG อาจกลายเป็นบริษัทล้าหลัง ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลก ที่ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศ นั่นหมายถึงบริษัทใดที่ละเลย ESG จะกลายเป็นตกเทรนด์นี้ไปในทันที..!!?

Back to top button