หลบภาษีน้ำมันไปทำไม
มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร หวังซื้อเวลาไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. เดินต่อไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันโลกพุ่งเอา ๆ
มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร หวังซื้อเวลาไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. เดินต่อไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันโลกพุ่งเอา ๆ ต้องหันมาปรับสูตรไบโอดีเซลให้เหลือเพียง B เดียว คือ B5 ส่วน B7-B10-B20 อะไรก็ไม่เอาแล้ว
มันมีที่มา! ก็เพราะว่าน้ำมัน B100 ที่สกัดออกมาจากผลปาล์มดิบ ราคาปาเข้าไป 57.27 บาท/ลิตรแล้ว การเอาน้ำมันไบโอฯ ที่ราคาแพงกว่าตัวเนื้อน้ำมันดีเซลกว่า 2 เท่าตัว (ราคาหน้าโรงกลั่นแค่ 24.59 บาท) มันก็ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้นโดยใช่เหตุ
ไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคน้ำมันเป็นอย่างยิ่ง ถึงจะเป็นการยกระดับราคาช่วยเหลือชาวสวนปาล์มก็เถอะ
ยิ่งเป็น B สูงขึ้นทั้ง B10-B20 ต้นทุนน้ำมันยิ่งเพิ่ม และต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยสูงขึ้น ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมัน ณ 30 ม.ค.มีฐานะสุทธิติดลบอย่างรวดเร็วไปถึง 14,080 ล้านบาทแล้ว
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป กองทุนน้ำมันอาจติดลบบานทะโรคไปถึง 2-3 หมื่นล้านบาท ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เกินกว่าวงเงินกู้ยืม 3 หมื่นล้านบาทที่ขอเอาไว้ได้เลย
การปรับสูตร B7 มาเป็น B5 คราวนี้จะทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลงได้ราว 50-60 สตางค์
อันที่จริง ผมก็เห็นด้วยกับนโยบายปรับลดสูตรน้ำมันดีเซลลงมานะครับ เกษตรกรก็มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือ แต่ก็ต้องอยู่ในความเหมาะสมพอดี ไม่สร้างภาระแก่ผู้ใช้รถใช้น้ำมันและฐานะกองทุนน้ำมันมากเกินไป
อีกประการหนึ่ง ปัญหาการเผาไหม้ของน้ำมันผสมไบโอดีเซล ผมก็ยังไม่เห็นสถาบันไหนให้การรับรองประสิทธิภาพการเผาไหม้ได้หมดจด ไม่ทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ กลายเป็นควันดำ และสร้างฝุ่น PM2.5 ในที่สุด
เอามันแค่ไบโอดีเซลสูตรเดียวคือ B5 ก็พอจะเหมาะควรและรักษาน้ำใจกันพอประมาณแล้วนะ คงต้องหาเวลาถกปัญหาเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป
แต่สำหรับการปรับสูตรไบโอดีเซลเหลือแค่ B5 คราวนี้ มันก็เป็นแค่มาตรการซื้อเวลาระยะสั้น เพียงแค่ 2 เดือนช่วง 5 ก.พ.-31 มี.ค.ศกนี้เท่านั้น
ถ้าน้ำมันโลกยังพุ่งไม่หยุดล่ะ และถ้าวงเงินกู้ยืมของกองทุนฯ ที่ขอเอาไว้ 3 หมื่นล้านบาท หมดลงล่ะ แม้แต่คิดจะยืดมาตรการออกไปอีก ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย
หลังประกาศมาตรการปรับลดสูตรดีเซลเหลือ B5 แค่ 2 วันเอง กบน.ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานก็ประกาศมาตรการเพิ่มเติมให้กองทุนน้ำมัน เพิ่มการชดเชยน้ำมันดีเซลอีก 70 ส.ต.จากเดิม 3.09 บาท/ลิตรเป็น 3.79 บาท/ลิตรซะแล้ว
ยาขนานแรก เอาไม่อยู่แน่นอน เตรียมหายาแรงขนานต่อไปได้แล้ว ถึงจะรักษานโยบายดูแลน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรได้
ควรจะคิดถึงการหั่นภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จัดเก็บน้ำมันทุกประเภทราว 6 บาท/ลิตรลงได้แล้ว ซึ่งรัฐบาลชอบจะเลี่ยงหลบ “ทางเลือก” นี้มาโดยตลอด
รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ถ้าลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันลงมาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง รัฐบาลก็ยังมีรายได้เหลือในราว 1 แสนล้านบาท
ประชาชนก็ยังได้บริโภคน้ำมันราคาถูกลงอีกลิตรละ 3 บาท และก็ยังดีกว่านโยบายแจกสะเปะสะปะโน่นนั่นนี่ของรัฐบาลแน่นอน
กระทรวงพลังงานของ ฯพณฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ พยายามเสนอไปทางกระทรวงการคลังให้ลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันลงแล้ว แต่ ฯพณฯ ว่าการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยังไม่มีท่าทีตอบรับ
ขอเรียนว่า มาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทมันมาสุดทางแล้วล่ะ อย่าหลอกตัวเองให้มันฉิบหายวายป่วงไปมากกว่านี้อีกเลย
ลดภาษีน้ำมันลงมา ช่วยเหลือประชาชนได้ดีกว่านโยบายแจกสะเปะสะปะที่ทำกันมาแน่นอน จะเอาแต่เลี่ยงหลบกันไปถึงไหน