RBF-TU ลบด้อย…เติมเด่น

หลังจากแต่งงานเป็นทองแผ่นเดียวกันมาตั้งแต่กลางปี 2564 สำหรับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กับบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF (TU เข้ามาถือหุ้น RBF 10%) ตอนนั้นก็ถูกตั้งข้อสังเกตกันเยอะจะ Synergy ธุรกิจกันอย่างไร..?


หลังจากแต่งงานเป็นทองแผ่นเดียวกันมาตั้งแต่กลางปี 2564 สำหรับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กับบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF (TU เข้ามาถือหุ้น RBF 10%) ตอนนั้นก็ถูกตั้งข้อสังเกตกันเยอะจะ Synergy ธุรกิจกันอย่างไร..?

ล่าสุดเห็นความชัดเจนแล้ว จากกรณี TU ควงแขน RBF ไปจับมือกับพันธมิตรที่ประเทศอินเดีย บริษัท Srinivasa Cystine Private Limited หรือ SCPL ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจจัดหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร หรือ ingredient คุณภาพสูงในตลาดอินเดีย

โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าว มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านรูปีอินเดีย โครงสร้างการถือหุ้น แบ่งเป็น RBF ถือหุ้น 51%  TU  ถือ 19%  และ SCPL ถือหุ้น 30%

ความน่าสนใจของดีลนี้…ด้วยศักยภาพของ RBF ถ้าบินเดี่ยวไปบุกตลาดอินเดีย อาจมีข้อจำกัดเยอะ และอาจเสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นบริษัทอินกรีเดียนท์จากค่ายยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่การไปกับ  TU ซึ่งเป็นผู้ผลิตทูน่าเบอร์หนึ่งของโลก มีสายสัมพันธ์ด้านอาหารทั่วโลก จะช่วยให้ RBF ขยายตลาดได้กว้างขึ้น

ที่สำคัญอย่าลืมว่า อินเดีย ถือเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน และอยู่ในช่วงของการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบอาหารทะเล ไปเป็นฟู้ดเทค โดยคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารแปรรูปในอินเดีย ในปี 2568 จะสูงถึง 5.35 แสนล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า RBF มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก..!! อย่างน้อย ๆ ก็สามารถขายส่วนผสมอาหาร ส่งออกไปประเทศอินเดียได้มากขึ้นแหละน่า…

ไม่นับรวมโอกาสในการเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศอินเดีย ที่จะตามมาในอนาคตอีกนะเนี่ย…

ในขณะที่พันธมิตรฝั่งอินเดีย อย่าง SCPL ดีกรีไม่ธรรมดา เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสำหรับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในเครืออะแวนติ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารทะเลของอินเดีย

โดยสายสัมพันธ์ระหว่าง TU กับเครืออะแวนติ กรุ๊ปนั้น ถือว่าแนบแน่นทีเดียว โดยปัจจุบัน TU ถือหุ้นในสองบริษัทในเครืออะแวนติ กรุ๊ป ได้แก่ บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ในฟาร์มกุ้ง สัดส่วน 24% และบริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด ที่ผลิตและแปรรูปกุ้ง สัดส่วน 40% ก็จะน่าเกิดการ Synergy ตามมาอีก…

ส่วนในมุมของ TU เป็นการสร้างความหลากหลายของโปรดักส์ นอกจากทูน่า อาหารทะเล ก็จะมีธุรกิจส่วนผสมอาหารเพิ่มเข้ามา โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ RBF…ซึ่ง TU จะได้ 2 ขาด้วยกัน ขาแรก รับรู้รายได้และกำไรจากการถือหุ้น RBF ส่วนอีกขา เป็นการรับรู้รายได้และกำไรในบริษัทร่วมทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น

ดู ๆ ไปดีลนี้เหมือนเป็นการลบข้อจำกัดเติมจุดเด่นให้กับ RBF ฟาก TU ที่เด่นอยู่แล้ว ก็คงเด่นมากขึ้นอีก ซึ่งน่าจะช่วยหนุนการเติบโตของทั้งคู่อย่างมีนัยสำคัญ…

แต่ถ้าให้เดา…ดีลบุกตลาดส่วนผสมอาหารในประเทศอินเดีย น่าจะเป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น หลังจากนี้คงเห็น RBF กับ TU ควงแขนเกี่ยวก้อยกันไปบุกตลาดอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกแน่ ๆ…

…ไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ ไปกินเกลือบ้านตาแป๊ะ…อุ๊ย ต้องไปถาม “เฮียธีรพงศ์ จันศิริ” กับ “เฮียสมชาย รัตนภูมิภิญโญ” ดูเองแล้วล่ะ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button