7 หุ้นบิ๊กแคปเด่นเดือน ก.พ. 65
บล.เคจีไอ แนะธีมหุ้นเดือนก.พ.ยังคงเป็นหุ้นตัวใหญ่ เนื่องจากมี valuations ต่ำกว่าหุ้นตัวเล็ก และได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้น
เส้นทางนักลงทุน
มีการวิเคราะห์ว่าเดือนกุมภาพันธ์ตลาดหุ้นไทยน่าจะผันผวนน้อยกว่าในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะตลาดการเงินทั่วโลกตอบรับท่าที hawkish ของเฟด และความเป็นไปได้ที่ FOMC อาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึงห้าครั้งในปี 2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อไปมากแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีกำหนดประชุม FOMC ในเดือนนี้ ดังนั้น ภาวะตลาดที่เป็นลบจากประเด็นเฟดน่าจะลดลง
อย่างไรก็ตามทาง บล.เคจีไอ มองว่าอัพไซด์ของตลาดไทยในเดือนกุมภาพันธ์ยังจำกัด เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และไทยจะขยับขึ้นต่อในอีกสองสามเดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลลบต่อการประเมินมูลค่าหุ้นในตลาด ทั้งนี้หากใช้สมมติฐานว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปัจจุบันเป็น 2.5%
ขณะที่การวิเคราะห์ earnings yield gap (EYG) ชี้ว่าดัชนี SET อาจจะปรับลดลงไปที่ระดับ 1,600 จุด หรือต่ำกว่านั้น แต่มองว่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนระยะกลางเข้าซื้อหุ้น และเนื่องจากมองว่าตลาดอาจจะย่อตัวลงมากเกินความคาดหมายในเดือนนี้ได้ ถ้าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงวิ่งขึ้นต่อ
ผลดังกล่าวทาง บล.เคจีไอ จึงยังคงชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดกลางหรือเล็ก และเนื่องจากระดับราคาหุ้นขนาดใหญ่ใน SET ยังอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ดังนั้นจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย และการถูกนักวิเคราะห์ในตลาด derate มูลค่าเหมาะสม
ดังนั้นทาง บล.เคจีไอ แนะธีมหุ้นเดือนกุมภาพันธ์ยังคงเป็นหุ้นตัวใหญ่ เนื่องจากมี valuations ต่ำกว่าหุ้นตัวเล็ก และได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้น สำหรับมุมมองในกรณีฐาน คือตลาดน่าจะปรับฐานในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และมองว่าตลาดมี downside อีก ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ พอร์ตหุ้นเดือนกุมภาพันธ์จึงไม่มีหุ้นขนาดกลางและเล็ก และเน้นไปที่หุ้นใหญ่ล้วน ๆ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
โดยตัวเลือกที่ทางนักวิเคราะห์หยิบยกมามองตัวที่ราคาหุ้นยัง laggard และน่าจะฟื้นตัวได้ดี ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
นอกจากนี้ ยังเลือกหุ้นธนาคารใหญ่อย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เข้ามาไว้ในพอร์ตหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์อีกด้วย จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับทางโบรกฯ อื่นประเมินว่า บริษัทจะมีการฟื้นตัวได้ดี เช่นกรณี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดย บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า หลังจากไทยได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ ผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิเพิ่มสูงอย่างมีนัย คาดทำให้ผลประกอบการรอบบัญชีไตรมาส 1 ปี 2565 (ต.ค.- ธ.ค. 2564) ฟื้นตัว
ขณะที่ ศบค. เริ่มอนุญาตเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go อีกครั้งตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 หลังควบคุมการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี หนุนปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากผลดังกล่าวยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 68.50 บาท
ส่วนของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC โดย บล. กรุงศรี ระบุว่า มีการปรับคาดการณ์กำไรปี 2565-2566 ขึ้น 89-49% ตามลำดับ และปรับสมมติฐานยอดขายแฟชั่นในไทย (สัดส่วน 20% ของยอดขายปลีก) ขึ้น 18-11% ในปี 2564-2566 พร้อมปรับรายได้ค่าเช่าขึ้น 10% (ให้ส่วนลดผู้เช่าน้อยลงเป็น 10% จากเดิม 20% ในปี 2565 จากการ cross-channel ยอดขาย CRC ในเดือน ม.ค. 2565 เติบโตได้แข็งแกร่งในระดับเลขสองหลัก สูงกว่าในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หลังปรับคาดการณ์กำไรขึ้น พร้อมกับเชื่อว่าเส้นทางการฟื้นตัวของกำไร CRC ค่อนข้างราบรื่นโดยคาดการณ์กำไรปี 2565 สูงกว่าตลาด 32% จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ตลาดจะปรับคาดการณ์กำไรขึ้นหลังความไม่แน่นอนในประเด็น Selfridge และ Omicron เริ่มหมดลง แนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 42 บาท
รวมทั้ง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดย บล.เมย์แบงก์ ระบุว่ากรณี KBANK เผยเป้าหมายทางการเงินใหม่ปี 2565 ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 6-8%, NIM 3.15-3.3%, อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิคงที่และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ 40-45% ธนาคารคาดว่าอัตราส่วน NPL จะอยู่ที่ 3.7-4.0% ในปี 2565 เทียบกับ 3.76% ในปี 2564
ผลดังกล่าวยืนยันมุมมองที่ว่าต้นทุนสินเชื่อผ่านระดับสูงสุดแล้วในปี 2563 และจะลดลงอีกในปี 2565-2566 เพราะจากผู้บริหารระบุต้นทุนเครดิตปี 2565 ที่มีโอกาสต่ำกว่า 160% ได้สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 และการเติบโตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่ให้ผลตอบแทนสูงในปี 2565 แล้ว โดยแนวโน้มระยะยาวต้นทุนสินเชื่อคาดว่าจะอยู่ที่ 130-140% ขณะที่ NPL coverage อยู่ที่ 130% หากสถานการณ์โควิดบรรเทา
ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล โดยผู้บริหารระบุว่า LINE BK (ร่วมทุนระหว่าง KBANK และ LINE) เปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ขณะนี้มีพอร์ตสินเชื่อ 1.53 หมื่นล้านบาท มีลูกค้า 500,000 บัญชีในปี 2564 ทั้งนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลของ KTC (ถือ, TP 62 บาท) อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2564 KBANK ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 40-50% ต่อปี เพื่อเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็นในปี 2565 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท และในปี 2567 อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท
อีกทั้งผู้บริหารกล่าวอีกว่ากลุ่มสินเชื่อนี้สร้างผลตอบแทนสูงกว่าสินเชื่อทั่วไปเฉลี่ย 3-4 เท่า และอัตราส่วน NPL ยังต่ำที่ 4-5% เห็นโอกาสที่ดีในการขยายสินเชื่อดิจิทัล เนื่องจากคนไทยยังพึ่งพาเงินกู้นอกระบบอยู่
นอกจากนี้ผู้บริหารมองเห็นโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ และต้องการเพิ่มขนาดของธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงก่อนที่จะปลดล็อกมูลค่าเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น สำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล KBANK มีผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และจะทดสอบแต่ละผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด หากได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า ธนาคารจะเร่งและขยายขนาดเพื่อสร้างผลตอบแทน สำหรับการร่วมทุนกับ JMT โดย KBANK จะขาย NPL บางส่วน และปล่อยให้บริษัทร่วมทุนจัดเก็บหนี้ ซึ่ง KBANK สามารถเคลียร์งบดุลและรับอานิสงส์จากสัดส่วนการถือหุ้น 50% ในบริษัทร่วมทุน ผลดังกล่าว แนะนำ “ซื้อ” เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 185 บาท
สำหรับธีมหุ้นบิ๊กแคปน่าลงทุนในช่วงเดือน ก.พ. 2565 ถือว่าจากการประเมินคือว่าอยู่ในระดับสมเหตุสมผล อย่างตัวอย่างก็พบว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานค่อนข้างแข็งแกร่ง!!!