Virtual Bank ก้าวข้ามธนาคารดั้งเดิม
Virtual Bank จะเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจการเงินโลก จนถึงขั้นต้องลืม “ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม” ไปเลยหรือไม่..!? ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป..
วันตรุษจีน..ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเผยแพร่เอกสารว่าด้วยเรื่อง “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย : เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” ความยาวทั้งหมด 45 หน้า เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ภายใต้วัตถุประสงค์การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน และเอื้อให้ภาคธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและรับมือจากความเสี่ยงรูปแบบใหม่อย่างเท่าทัน
หนึ่งในไฮไลท์สำคัญ นั่นคือเรื่อง Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล โดยธปท.เตรียมมีการออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อรับฟังความเห็นภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
การเปิดให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์แบบ Virtual Bank ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักคิด “การเปิดกว้างในการแข่งขัน” ภายใต้เป้าหมายการเปิดทางผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากการดำเนินงานรูปแบบ Virtual Bank คล่องตัวและต้นทุนการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม (Traditional Bank)
โดยผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ มีการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากพัฒนาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลทางเลือก โดยอนุญาตให้จัดตั้งเป็น Virtual Bank หรือ Digital-only bank เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และ Virtual Bank มีลักษณะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ และบริบทในแต่ละประเทศ นั่นจึงทำให้ Virtual Bank ตอบโจทย์การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
สำหรับคุณลักษณะสำคัญของ Virtual Bank คือไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ (สาขา และตู้ ATM) โดยให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน จนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของ Virtual Bank ดังกล่าว
โดยมีการรับเงินฝากและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แตกต่างจากการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแบบอื่น ๆ อาทิ Peer-to-Peer lending (P2P) มี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยการจับคู่ระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้ Crowdfunding ที่มี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุนและ Decentralized Finance (DeFi) เป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง
ที่สำคัญมีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม เรื่องระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system) โดย Core banking system ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นเรื่องการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่น ๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นับว่า Virtual Bank เป็นอีกพัฒนาการสำคัญของโลกการเงินดิจิทัล ที่ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม บริษัทผู้ประกอบการเทคโนโลยีและบริษัทเทคโนโลยีทางด้านการเงิน FinTech รายใหญ่ระดับโลก เริ่มมีการจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystems) ของตนเอง เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ทว่า Virtual Bank จะเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจการเงินโลก จนถึงขั้นต้องลืม “ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม” ไปเลยหรือไม่..!? ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป..