พาราสาวะถีอรชุน
วันพรุ่งนี้จะมีการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สายนัดสำคัญ โดยใช้ห้องประชุมรัฐสภาเป็นสถานที่ประชุม เหตุที่เลือกใช้สถานที่ใหญ่โตขนาดนี้ เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจะส่งสารอะไรบางอย่างในฐานะหัวหน้าคสช.ซึ่งเป็นต้นตอของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อบอกความประสงค์ว่า ที่เข้ามาขับเคลื่อนนั้น เป็นอะไร อย่างไร
วันพรุ่งนี้จะมีการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สายนัดสำคัญ โดยใช้ห้องประชุมรัฐสภาเป็นสถานที่ประชุม เหตุที่เลือกใช้สถานที่ใหญ่โตขนาดนี้ เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจะส่งสารอะไรบางอย่างในฐานะหัวหน้าคสช.ซึ่งเป็นต้นตอของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อบอกความประสงค์ว่า ที่เข้ามาขับเคลื่อนนั้น เป็นอะไร อย่างไร
ถ้าจะให้เดา น่าจะถึงเวลาที่บิ๊กตู่ต้องประกาศแนวทางให้ชัดหลังจากเลื่อนโรดแมปคืนประชาธิปไตยมาหนหนึ่งแล้ว แต่คราวนี้มีเดิมพันที่ได้ไปสัญญาไว้กับ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทุกอย่างไม่ควรจะมีข้ออ้างให้เกิดโรคเลื่อนได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตรงนั้น หากยึดถือตามแนวทางของคสช.ที่ต้องการจะปฏิรูปประเทศและให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แม้ฟังดูแล้วถ้อยแถลงดังว่านี้ของหัวหน้าคสช.จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับม็อบกปปส.ก่อนหน้านี้ก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการก็คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปและรวมไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวางและไร้เงื่อนไข
การกำหนดประเด็นปฏิรูปเร่งด่วนที่ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและการสร้างกลไกการขับเคลื่อนร่วมกัน หากยังยึดแนวทางให้ผู้ที่แต่งตั้งมาทั้งหมดดำเนินการ โดยยังเกิดข้อครหาทุกอย่างต้องฟังจากผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว กระบวนการต่างๆ ที่หวังว่าจะเป็นไปตามใจต้องการนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะหัวใจหลักของการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าผู้มีอำนาจในเวลานั้นจะมาด้วยวิธีการใดก็ตามต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับฟังเสียงที่แตกต่าง
ในฐานะที่ได้ชิมลางไปแล้วจากการเป็นสมาชิกสภาการปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. วันชัย สอนศิริ จึงได้สรุปบทเรียนและเตรียมที่จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท. โดยระบุสปท.ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเรื่องปรองดองคือหนึ่งในเรื่องเร่งด่วน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
เห็นด้วยกับความเห็นของวันชัยที่บอกว่าอาจต้องมีการเชิญคนนอกที่เป็นกลุ่มการเมืองหรือคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพียงแต่ว่าเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว ต้องให้บทสรุปจากคณะกรรมาธิการชุดนี้มีน้ำหนักและความหมาย ไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรมที่ต้องการดึงคนเหล่านั้นเข้ามาเพื่อช่วยสร้างความชอบธรรมหรือสร้างภาพให้สปท.ดูดีเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับกรณีการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่เวลานี้ดูเหมือนว่าจะมีความก้าวหน้าพอสมควร แต่หลายคนยังมองว่าเป็นการเร่งรีบจนเกินไปและทำท่าว่าจะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วม สุริยะใส กตะศิลา มองว่ากรธ.กำลังปิดห้องเขียนรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้สอบถามความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ หรือไม่ได้เปิดเวทีให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างที่เคยประกาศไว้ ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถอยกลับไปเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อเทียบกับบรรยากาศและการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือในกระบวนการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลรัฐประหารเหมือนกันยังดูมีบรรยากาศและผู้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ กรธ.ต้องไม่ลืมว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ อาจไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเนื้อหาอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย
แม้ มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะอาจจะคิดว่านี่เป็นเพียงร่างแรก แต่บทเรียนที่ผ่านมาผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะถือเอาร่างแรกเป็นหลักเพราะมาจากความคิดและความต้องการของตนเอง ไม่ค่อยมีการปรับแก้ใดๆ แม้จะได้รับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ก็ตาม ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้สิ่งที่น่าห่วงคืออารมณ์ร่วมของสังคมที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ
ที่เกรงว่าจะลดน้อยถอยลงจนส่งผลให้ไม่ผ่านประชามติหรือคนไม่ไปลงประชามติ เว้นเสียแต่ว่ากรธ.ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามตินั่นก็เป็นอีกเรื่อง และหากเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะเท่ากับเข้าสูตรที่มีคนมองผู้มีอำนาจไว้ก่อนหน้าว่า กำลังใช้วิธีการทำให้เบื่อแล้วปกครอง แน่นอนว่า ในระยะเฉพาะหน้าอาจทำให้สบายใจเพราะไร้กระแสต่อต้าน แต่หากปล่อยไว้นานๆ จนความเบื่อหน่ายกลายเป็นความเซ็งและทนไม่ไหว นั่นยิ่งจะเป็นเรื่องอันตรายสำหรับผู้ปกครอง
แต่ในภาวะเช่นนี้แม้จะมีความเดือดร้อนอย่างไร โอกาสที่จะเห็นความเคลื่อนไหวคงเป็นไปได้อยาก เหมือนอย่างที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ก่อนหน้านี้ราคาข้าวอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน และวันนี้เหลือเพียง 7,600-7,800 บาทต่อตัน ทั้งยังถูกสั่งห้ามทำนาปรัง ห้ามสูบน้ำทำนา จนต้องปล่อยข้าวแห้งตาย
แม้ชาวนาต้องการเดินขบวน แต่มีทหารเข้าไปห้ามการรวมตัว จะเห็นว่าชาวนาไม่สามารถต่อรองได้ แม้มีปัญหาหลายระดับ วันนี้ชาวนาอยู่อย่างลำบากและมองไม่ออกว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงถือได้ว่าขณะนี้เป็นช่วงวิกฤตที่สุดของชาวนา เนื่องจากไม่มีอำนาจต่อรอง ส่งผลให้รายได้น้อยและมีหนี้สินมากขึ้น คงไม่ต่างจากชาวสวนยางพาราที่ฮึ่มๆ ว่า ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจะนัดชุมนุมกันทั่วประเทศ
คงเป็นได้แค่การกระทืบเท้าขู่โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ได้สะทกสะท้านใดๆ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่มีทางแก้ไข หากแต่เป็นเรื่องของการไม่ต้องการเลียนแบบประชานิยมหรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ต้องการกลืนน้ำลายตัวเองที่เคยประกาศไปแล้วว่าจะไม่มีนโยบายแทรกแซงหรือชดเชยราคาพืชผลทางการเกษตร ด้วยเหตุนี้และภาวะที่เป็นอยู่ เกษตรกรจึงรอวันเฉาตายสถานเดียว
ไม่ต่างจากภาคเอกชนหรือผู้ใช้แรงงาน ที่มีเสียงบ่นว่าค่าจ้างแรงงานขณะนี้ความจริงต้องอยู่ที่ 460 บาทต่อวัน ไม่ใช่จะไปจ้องล้มเลิกค่าจ้าง 300 บาท การเลิกจ้างงานมากขึ้น โบนัสและโอทีจากที่เคยได้รับน้อยลง เป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี อย่างนี้ไม่รู้ว่าสวนทางกับนโยบายประชารัฐหรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลที่เที่ยวโพนทะนาว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือเปล่า