ยุทธการ ‘ตัดหางปล่อยวัดลูก’ คัมแบ็ก

การประกาศ “ตัดแม่ตัดลูก” หรือ “ตัดพ่อตัดลูก” แล้วแต่จะเรียก ของสังคมตะวันออกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงมากโดยเฉพาะในเมืองพุทธ


การประกาศ “ตัดแม่ตัดลูก” หรือ “ตัดพ่อตัดลูก” แล้วแต่จะเรียก ของสังคมตะวันออกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงมากโดยเฉพาะในเมืองพุทธที่สอนให้ยกพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ในบ้าน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป เรารับวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับการปฏิบัติที่มีความเท่าเทียมหรือเสมอภาคกันมากขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก เราจึงได้เห็นข่าว “ตัดพ่อตัดลูก” กันมากขึ้นในช่วงหลัง แต่สาเหตุส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุผลของแต่ละครอบครัว เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้เห็นข่าว พ่อแม่ในเมียนมาประกาศ “ตัดหางปล่อยวัด” ลูกที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง และด้วยความกลัวว่า จะถูกยึดทรัพย์สิน

ยุทธวิธีในการบีบบังคับเช่นนี้ มันน่าสะอิดสะเอียนที่เอาความสัมพันธ์ของคนมาเป็นตัวประกัน และอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ปกครองเผด็จการก็คงจะจนหนทางเช่นกันที่จะควบคุมและบีบให้คนรุ่นใหม่ “ยอมจำนน” และกลับมาอยู่ภายใต้ “บูททหาร” อีกครั้ง

จากรายงานของรอยเตอร์ ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ทุกวันจะมีครอบครับเฉลี่ยหกหรือเจ็ดครอบครัวในเมียนมา ได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ของรัฐ ตัดความสัมพันธ์กับลูกชาย ลูกสาว หลานสาว หลานชาย ที่ได้ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผย

การประกาศ “ตัดหางปล่อยวัด” ลูกหลานในลักษณะเช่นนี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่กองทัพประกาศว่าจะยึดทรัพย์สินของผู้ต่อต้านรัฐบาล และจับกุมคนที่ให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้ประท้วง และยังได้มีการบุกค้นบ้านเป็นจำนวนมากตามมา

เหตุผลที่พ่อแม่ให้ในการประกาศตัดลูกหลานผ่านหนังสือพิมพ์ของรัฐส่วนใหญ่คือ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และไม่ต้องการรับผิดชอบต่อการกระทำของบุตรหลานอีกต่อไป แต่มักเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารมาค้นบ้านเพื่อตามตัวลูกหลานที่เข้าร่วมประท้วง  ลูกหลานบางคนก็เข้าใจว่าที่พ่อแม่ทำไปเพราะถูกกดดัน แต่ก็อดเสียใจไม่ได้เมื่อได้เห็นประกาศดังกล่าว ข้างฝ่ายพ่อแม่ก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่ก็ได้แต่หวังว่าลูกหลานจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องทำ

ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่แทคติกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทหารเมียนมาเคยใช้แทคติกที่พุ่งเป้าไปยังครอบครัวของนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลมาแล้วในช่วงที่เกิดความไม่สงบในปี 2550 และในช่วงปลาย ค.ศ. 1890 แต่ทหารได้ใช้แทคติกนี้ถี่มากขึ้นนับตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

การประกาศตัดหางปล่อยวัดสมาชิกในครอบครัวต่อสาธารณชนมีประวัติศาสตร์มายาวนานในวัฒนธรรมของเมียนมา และเป็นหนทางหนึ่งในการตอบโต้ของผู้ปกครองทหารเพื่อทำให้คนในครอบครัวกลัวที่จะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่าง ๆ  และไม่ต้องการที่จะถูกจับ และไม่ต้องการที่จะพบกับความเดือดร้อน

แต่ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะยอมตัดลูกถึงขนาดนี้แล้ว โฆษกทหารก็ยังขู่ว่า คนที่ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับลูกหลานทางหนังสือพิมพ์แล้ว ก็ยังอาจถูกตั้งข้อหาต่าง ๆ ได้อยู่ถ้าพบว่าให้การสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ผู้ที่ออกมาประท้วงตามท้องถนนในเมียนมาหลังการปฏิวัติเมื่อหนึ่งปีก่อนส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หลังจากที่มีการกวาดล้างการประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งก็หนีไปยังต่างประเทศ หรือไม่ก็ไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ห่างไกลของประเทศที่รู้จักในชื่อว่า “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้ม

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเปิดเผยว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วประมาณ 1,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วง และได้จับกุมประชาชนเกือบ 12,000 คน

การปฏิวัติในเมียนมา ผ่านไปแล้วหนึ่งปีกว่า แต่ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและมีแต่จะถดถอยลงจนหลายคนมองว่าใกล้เกิดสงครามกลางเมือง แม้แต่สหประชาชาติ หรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ยังไม่สามารถ ชักจูงให้รัฐบาลทหารกลับมาเจรจากับรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี และทำตามฉันทามติ 5 ข้อที่อาเซียนเรียกร้องได้

การนำยุทธการกดดันพ่อแม่ให้ตัดหางลูกหลานกลับมาใช้ น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวคิดของผู้ปกครองทหารก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม คือต้องใช้ความรุนแรง ความหวาดกลัว บีบบังคับประชาชนแบบที่เคยทำไม่ว่าในรูปแบบใดเพียงเพื่อรักษาอำนาจไว้ให้นานเท่านาน ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ที่ได้ลิ้มลองเสรีภาพและอิสรภาพมาแล้วช่วงหนึ่ง ก็ไม่อยากจะกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา น่าจะเป็นหนังตัวอย่างที่เตือนเราว่า อย่าปล่อยให้เผด็จการกลับมาโงหัวได้อีกเป็นอันขาด เพราะเมื่อมันกลับมาแล้ว ไม่มีวันที่จะไม่ “เหลิงอำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในที่ใด ๆ ของโลก ขอให้จำไว้วาทะของ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษของอังกฤษ ไว้ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดแต่เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”

Back to top button