พาราสาวะถี
เมื่อสแกนไปยังประเทศในอาเซียนที่ถูกจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตย ปรากฏว่าไทยตามหลังมาเลเซีย ติมอร์เลสเต อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
สาระสำคัญจากการประกาศดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2021 หรือปีพุทธศักราช 2564 ของสถาบันวิจัยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของเดอะอีโคโนมิสต์ นิตยสารชื่อดังระดับโลก ไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ “ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์” หรือ Flawed democracy เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2562 ดีขึ้นกว่าการอยู่ในกลุ่มประเทศ “กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย” หรือ Hybrid regimes ติดต่อกัน 5 ปี หลังการรัฐประหารปี 2557
หากแต่เมื่อสแกนไปยังประเทศในอาเซียนที่ถูกจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตย ปรากฏว่าไทยตามหลังมาเลเซีย ติมอร์เลสเต อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ อยู่เหนือแค่ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา ประเด็นที่น่าสนใจและน่าสงสารประเทศก็คือ จากที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาค กลายเป็นตกต่ำตามหลังประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ขบวนการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยจนมาถึงขบวนการสืบทอดอำนาจน่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด
ขณะที่เกณฑ์การให้คะแนนของอีไอยูนั้นก็แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยที่จากคะแนนเต็มสิบไทยได้คะแนนในส่วนของกระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยมไป 7.0 คะแนน การมีส่วนร่วมทางการเมือง 6.67 คะแนน วัฒนธรรมการเมือง 6.25 คะแนน เสรีภาพของพลเมืองผ่านเกณฑ์แบบฉิวเฉียดที่ 5.29 คะแนน ส่วนที่เกือบตกคือการทำงานของรัฐบาล 5.0 คะแนน ดัชนีตรงนี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ชัดเจนว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะถึงเวลาที่ต้องพิจารณาตัวเองแล้วหรือยัง
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองเดินทางมาถึงนาทีนี้ แม้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะแสดงท่าทีขึงขังอย่างไร แต่การขับเคลื่อนของคนในรัฐบาลโดยเฉพาะบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย มันไม่ได้เอื้อที่จะทำให้คนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความมั่นคงแต่อย่างใด ความจริงประเด็นนี้มันก็ชวนให้คิดกันตั้งแต่การรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลหลายพรรคแล้ว การจะอยู่ในอำนาจได้อย่างราบรื่นและเหนียวแน่น จะต้องแบกรับต้นทุนมหาศาล ซึ่งก็คือกล้วยที่แจกกันอุตลุดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั่นเอง
เมื่อเกิดความขัดแย้งนับตั้งแต่ผ่านศึกซักฟอกครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งการขับ ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมพวกพ้นพรรคสืบทอดอำนาจ มันก็คือสัญญาณของการเข้าสู่ช่วงปลายในการอยู่ในอำนาจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในสมัยแรก เหตุการณ์สภาล่มต่อเนื่องและวันวานก็เป็นครั้งที่ 3 ภายในเดือนเดียว ทั้งที่เหลือเวลาในสมัยประชุมอีกไม่กี่วัน ไม่ใช่เรื่องการเล่นเกมของฝ่ายค้าน แต่มันเป็นภาพสะท้อนการประสานงานภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่สำคัญคือพรรคแกนนำรัฐบาลเอง
ยังย้ำคำเดิมต่อคำเตือนของเนติบริกรที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไว้วางใจเป็นที่สุด การอยู่หรือไปของรัฐบาลเรือเหล็กเป็นเรื่องของสนิมจากเนื้อใน ขณะนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาสภาล่ม และกลุ่มธรรมนัสที่คอยตามป่วน สร้างความแปรปรวนต่อกระบวนการเสนอเรื่องต่าง ๆ ภายในสภาของรัฐบาลเท่านั้น ล่าสุดมีการประกาศตั้งกลุ่ม 16 ส.ส. ของส.ส.หลายพรรค นำโดย “เสี่ยหมา” พิเชษฐ สถิรชวาล ที่ยุบพรรคประชาธรรมไทยของตัวเองแล้วกระโจนเข้าร่วมพรรคสืบทอดอำนาจตามรอย ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพระพุทธเจ้า
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเมื่อมองไปยังรายชื่อส.ส.ที่เป็นแนวร่วม ล้วนก็หน้าเดิมทั้งสิ้น การอ้างว่าจะพิจารณาลงมติเพื่อยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักนั้น ก็แค่เกมเคาะกะลา แม้ว่าจะมีส.ส.หลายรายที่มีรายชื่อปรากฏตามข่าว ออกมาประกาศถูกแอบอ้างชื่อ ไม่ว่าจะเหลือกี่คน คนกลุ่มนี้ก็ยังจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเพราะมองเห็นว่าในภาวะเสถียรภาพรัฐบาลมีปัญหาคือโอกาสที่จะกอบโกย เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
แต่เชื่อได้ว่าประสาคนที่ไม่ยอมให้ใครมาบีบบังคับ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไม่โอนอ่อนผ่อนตามสิ่งที่กลุ่มเหล่านี้เรียกร้อง เพราะมองดูจากวาระที่สภาจะพิจารณาในสมัยประชุมนี้ไม่มีอะไรที่รัฐบาลจะต้องกังวล เรื่องกฎหมายลูกประกอบรัฐบาลว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับก็เป็นผลประโยชน์ของนักเลือกตั้งล้วน ๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปแยแส แต่สมัยประชุมหน้าที่มีวาระเรื่องกฎหมายงบประมาณ ถ้ายังอยู่ถึงนั่นจึงเป็นจังหวะที่จะยอมลงทุนหนักเป็นการทิ้งทวน
เมื่อแรงกดดันจากฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถสร้างความระคายเคืองผิวให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ เหลืออีกเรื่องที่จะสั่นคลอนรัฐบาลคือการพิจารณาเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่ การให้สัมภาษณ์ของ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ว่ารัฐมนตรีของพรรคจะโหวตโนถ้ากระทรวงมหาดไทยไม่แก้ไขตามความเห็นที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงไป ก็เป็นเรื่องที่พูดไปตามหลักการ
คำถามก็คือ เมื่อเรื่องนี้กลับเข้ามาสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 5 พรรคภูมิใจไทยของเสี่ยหนูจะมีโอกาสได้อภิปรายทักท้วงหรือได้ลงมติโหวตโนอย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ หลังจากที่มีการตั้งข้อสังเกตจากการแถลงของโฆษกรัฐบาลและบทสัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม หลังประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบแต่ให้กระทรวงมหาดไทยไปชี้แจงข้อสงสัยกับกระทรวงคมนาคม และกลับนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้งมันหมายถึงอะไร
มันหมายความว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยลาประชุมนั้น รับทราบแล้วสามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแต่ให้กระทรวงมหาดไทยไปชี้แจงข้อสงสัยเท่านั้นแล้วนำกลับมาแจ้งให้ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นใช่หรือไม่ ใครอย่าคิดว่าจะตีความกันแบบดื้อ ๆ ง่าย ๆ อย่างนี้เลยหรือ อย่าลืมว่าขบวนการสืบทอดอำนาจอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะความหน้าทนและการใช่เล่ห์กลทางกฎหมายตลอดเวลา
หากลองไปถอดรหัสบทสัมภาษณ์ของวิษณุให้ชัด ๆ ต่อกรณีนี้จะมีการย้ำหลายครั้งว่า เรื่องนี้หากที่ประชุมครม.เห็นชอบโดยเสียงส่วนใหญ่ก็ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร รัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิที่จะแสดงออกได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องดูว่าอนุทินและคณะจะขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่ออย่างไร หรือสุดท้ายจะปล่อยให้เป็นกรณีที่ว่าหากมีปัญหาในอนาคตมีใครไปยื่นร้องเอาผิดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถ้าถูกชี้ว่าผิดขึ้นมาคนที่เห็นโหวตรับก็รับผิดไป ส่วน 7 รมต.ก็รอด ถ้าคิดแค่นี้คนที่จะเลือกพรรคนี้อีกต้องคิดกันให้ดี