พาราสาวะถี
สรุปข่าวชะตากรรมของ ธรรมนัส พรหมเผ่า และเพื่อนส.ส.อีก 20 คนยังไม่ถึงฆาต จากเดิมที่มีข่าวว่ากกต.จะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องที่มีสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจร้อยกว่าคนไปยื่นร้องให้ตรวจสอบ
สรุปข่าวชะตากรรมของ ธรรมนัส พรหมเผ่า และเพื่อนส.ส.อีก 20 คนยังไม่ถึงฆาต จากเดิมที่มีข่าวว่ากกต.จะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องที่มีสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจร้อยกว่าคนไปยื่นร้องให้ตรวจสอบว่ามติพรรคที่ให้ขับทั้งหมดพ้นจากความเป็นสมาชิกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพิจารณาเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกกต. แต่เป็นสิ่งที่เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องพิจารณา
ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่ว่าในวันเดียวกันนั้นมีสมาชิกของพรรคสืบทอดอำนาจที่ได้ไปยื่นร้องขอให้กกต.มีการชะลอหรือเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าคนที่ไปยื่นนั้นส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทำให้การยื่นรายชื่อไม่ครบถ้วน ตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด ความจริงกรณีนี้นอกจากนายทะเบียนพรรคการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบและวินิจฉัย ใครที่เห็นว่าไม่ชอบต้องไปฟ้องศาลไม่ใช่ไปร้องกกต.
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า 21 ส.ส.ที่ถูกขับพ้นพรรคจะต้องหาพรรคสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน คือไม่เกิน 18 กุมภาพันธ์นี้ โดยธรรมนัสและส.ส. 17 รายได้เข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 3 รายคือ วัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา คงรอความชัดเจนจากกกต.ในเรื่องนี้ เมื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้นปลายทางของทั้งสามคนคงหนีไม่พ้นพรรคภูมิใจไทย
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะเงื่อนไขที่ยื่นไปได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี อันจะทำให้พรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล มีเสียงเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มความมั่นใจในการแสดงออกต่อเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องตัดสินใจ อย่าลืมเป็นอันขาดนอกจากส.ส.ที่ย้ายไปสังกัดอย่างเปิดเผยแล้ว ยังมีกลุ่มที่เลี้ยงดูปูเสื่อกันไว้แต่ยังอยู่ใต้ชายคาพรรคเดิมมากที่สุดก็คือก้าวไกล นั่นจึงเป็นที่มาของการการันตี 260 เสียงกับท่านผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะเป็นตัวชี้วัดคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ว่า “หนูช่วยหน่อยนะ” หมายถึงการให้อนุทินและพรรคภูมิใจไทยช่วยเรื่องเสียงในสภาหรือปมปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ต้องดูผลจากที่ประชุมครม.หากมีวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบ โดยที่พรรคภูมิใจไทยที่ประกาศโหวตโนตั้งแต่ต้น ไม่แสดงปฏิกิริยาใด ๆ หลังจากนั้นก็หมายความว่าเป็นการขอร้องกันในเรื่องนี้
หากถอดรหัสจากบทสัมภาษณ์ของอนุทินล่าสุด ก็จะพบว่าคงจะมีการเคลียร์กันแล้วในเรื่องนี้ มิเช่นนั้นคงไม่บอกว่ายืนยันเป็นความเห็นที่ต่างกันของกระทรวงคมนาคมกับมหาดไทย ที่ต้องไปหาจุดลงตัวกันให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ประธานในที่ประชุมอาจจะลงมติ แล้วมติออกมาอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่พรรคภูมิใจไทยจะไปทะเลาะกับพรรคสืบทอดอำนาจหรือพรรคประชาธิปัตย์ บอกแล้วว่าพรรคนี้ไม่มีทางที่จะแตกหักเป็นอันขาด
เพียงแต่การที่ชักธงรบด้วยท่วงทำนองที่ขึงขังแต่ฉากจบกลับหวานหยดย้อยนั้น ไม่รู้ว่าอนุทินและลิ่วล้อต้องการภาพจำจากประชาชนอย่างไร ซึ่งพอจะเข้าใจเป้าหมายของพรรคในการเลือกตั้งอยู่ที่การกวาดส.ส.ในต่างจังหวัด การออกมาแสดงท่าทีเช่นนี้ของ 7 รัฐมนตรี โดยมีส.ส.ของพรรคประกาศสนับสนุน ก็เพื่อที่จะได้มีหลักฐานไว้ในวันข้างหน้า ถ้ามีการยื่นร้องให้เอาผิดแล้วองค์กรที่รับเรื่องชี้ว่าผิด รัฐมนตรีที่โหวตโนจะได้รอด
การขับเคลื่อนเกมการเมืองแบบนี้ถ้าไม่มีแบ็กอัพที่ชื่อ เนวิน ชิดชอบ คงจะไม่ห้าวหาญกันถึงเพียงนี้ ส่วนอานิสงส์จากการออกมาค้านแต่ไม่เป็นผลให้ครม.เปลี่ยนแปลงความต้องการของกระทรวงมหาดไทยและกทม. ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชัดเจนอยู่แล้วว่าภูมิใจไทยไม่ยุ่งสนามเมืองหลวง หากคนกรุงเทพฯ เห็นว่าสิ่งที่เสียงข้างมากลากไปสร้างภาระไม่เกิดประโยชน์ต่อคนกทม. มีสองพรรคที่จะถูกลงโทษคือพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคเก่าแก่
ที่จะว่าไปแล้วพรรคสืบทอดอำนาจจนป่านนี้ยังหาตัวคนมาลงสมัครไม่ได้ เท่าที่มีการแพลมชื่อออกมาก็ไม่น่าจะไปถึงฝั่งฝัน เมื่อมาเจอสถานการณ์แบบนี้การปล่อยผ่านหรือใช้การลากยาวยังไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงน่าจะเป็นทางออก ส่วนประชาธิปัตย์แม้จะมีตัวผู้สมัคร แต่การเสียรังวัดตั้งแต่เปิดตัวด้วยการอ้างเป็นทายาทไอน์สไตน์ และมีประเด็นถูกยื่นตรวจสอบร่ำรวยผิดปกติ หากเรื่องยังคาราคาซังจนถึงวันเลือกตั้งก็ไม่น่าจะเป็นผลดีอย่างแน่นอน
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเก่าแก่ยังติดร่างแหเรื่องที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบในการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวด้วย เรียกว่าเจอโจทย์ใหญ่สองเด้ง ถ้าไม่เปลี่ยนตัวผู้สมัครที่อาจจะทำให้เสียหน้า ก็ต้องหาทางแก้เกมกันหนัก บอกแล้วว่าการเข็นคนนอกลงสนามครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่จะสร้างกระแส ได้รับเสียงตอบรับจนนำไปสู่ชัยชนะเหมือนคราว อภิรักษ์ โกษะโยธิน แต่อย่างใด
กว่าที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่รู้ว่าจะมีการแฉปมร้อนอะไรกันอีก เอาแค่กรณีของขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ลากตั้งก็ได้ชิงแถลงข่าวออกตัวไปแล้วว่า ไม่มีส่วนรู้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการต่ออายุสัมปทาน เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยล้วน ๆ ซึ่งคนเชื่อน่าจะมีน้อยหรือไม่มี แต่นี่ก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเมืองเมื่อถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องเลือกระหว่างอนาคตของตัวเองกับการดูแลคนที่เคยใช้งาน ผู้มีอำนาจจะเลือกอะไร โบราณว่าไว้ไม่มีผิด “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”