สภาพคล่องหนุนตลาด

ความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ก็คือ “เงินเฟ้อ” ในช่วงเศรษฐกิจฟุบ หรือที่เรียกขานกันในศัพท์แสงทางวิชาการว่า “Stagflation”


ความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ก็คือ “เงินเฟ้อ” ในช่วงเศรษฐกิจฟุบ หรือที่เรียกขานกันในศัพท์แสงทางวิชาการว่า “Stagflation”

ภาวะเช่นนี้ ไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่นัก เพราะเป็น “เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากแรงกดดันด้านต้นทุนสำคัญจำพวกอาหารและเชื้อเพลิง (Cost Puch) ที่สูงขึ้น ไม่ใช่ “เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากกำลังซื้อของคนในประเทศที่สูงขึ้น (Demand Pull)

กับอีกประการหนึ่ง ผมว่าการที่ประเทศพัฒนาแล้วทำ QE กันจนเงินล้นโลกด้วยล่ะ ดอลลาร์คิวอีเอย ยูโรคิวอีเอย และเยนคิวอี ก็เอากับเขาด้วย

ประเทศกำลังพัฒนาและไม่ได้ทำคิวอี จึงรับผลกระทบเงินเฟ้อทั้ง “คอสต์ พุช” และเงินล้นโลกจากคิวอี โดยที่เศรษฐกิจก็ยังไม่ทันฟื้นตัว เป็นภาวะสุดยากลำบากแท้

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ก็ก่อเกิดผลดีกับตลาดทุนครับ เพราะเงินไม่มีที่ไป เงินทุนเคลื่อนย้ายออกไป เดี๋ยวก็กลับมาใหม่ในเวลาไม่ช้านานนัก ไม่เหมือนกับภาวการณ์เคลื่อนย้ายเงินทุน (เข้า-ออก) เช่นแต่ก่อน

แม้ปัจจัยพื้นฐานยังไม่แปรเปลี่ยนเท่าไหร่ แต่หุ้นก็อาจจะขึ้นได้โดย “สภาพคล่อง” หรือยามเป็นขาลง ก็ไม่นานนัก โดยเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน

ตลาดหุ้นไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีสภาพคล่องซื้อขายรายวัน เพิ่มขึ้นมาก และกลายเป็นตลาดที่ซื้อขายสูงสุดในตลาดอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์มาหลายปีแล้ว

ปี 60 ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 47,755.37 ล้านบาท, ปี 61 ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 56,409.06 ล้านบาท, ปี 62 ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 52,467.58 ล้านบาท, ปี 63 ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 67,334.80 ล้านบาท และ ปี 64 ซื้อขายเฉลี่ยสูงสุดถึงวันละ 88,443.08 ล้านบาท

ด้านดัชนีหลักทรัพย์ปี 60 ปิดสิ้นปีที่ 1,753.71 จุด ปรับขึ้น 243.47 จุด หรือขึ้นไป 16.12%, ปี 61 ปิด 1,563.88 จุด ปรับตัวลดลง 189.83 จุด หรือ 10.82%, ปี 62 ปิด 1,579.84 จุด เพิ่มขึ้น 15.96 จุด หรือขึ้นไป 1.02%, ปี 63 ปิด 1,449.35 จุด หรือลดลง 8% และ ปี 64 ปิด 1,657.62 จุด ปรับขึ้น 208.27 จุด หรือ 14.37%

ดัชนีล่าสุด ณ 17 ก.พ. 65 ปิดที่ 1,711.58 จุด ปรับตัวจากต้นปีมา 53.96 จุด หรือ 3.25% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 101,481.30 ล้านบาท

ในรอบ 5 ปีมานี้ (ปี60-64) แม้ยังไม่เจอโควิด-19 เศรษฐกิจก็ซบเซาอยู่แล้ว เจอโควิด-19 ปี 63-64 เข้าไป เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวจมลึก แต่ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ก็ยังพอประคองตัวไปได้

หากคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ในระดับนี้ คือยังมีผู้ติดเชื้อสูงอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง ธุรกิจการค้า-บริการ ค่อยกลับคืนใกล้เคียงสู่ภาวะปกติ และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ดัชนีตลาดสิ้นปี 65 ก็ยังพอเป็นที่หวังได้

ยิ่ง “ยุบสภา” โดยแก้กฎหมายพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามข้อเสนอของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยิ่งจะก่อเกิดผลดีทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโอกาสในตลาดหุ้น

ตลาดหุ้น ณ ขณะนี้ มีหุ้นคุณภาพ ที่จ่ายปันผลดี 4-5% ขึ้นไป พี/อีต่ำกว่า 15 เท่าลงมา และมูลค่าทางบัญชีสูงกว่าราคาตลาดจำนวนไม่น้อย หุ้นที่เป็น “โกรท สต๊อก” หรือหุ้นเติบโต ที่แม้ตัวเลขพื้นฐานอาจจะสูง แต่อนาคตไกล เป็น “เทค คัมปานี” ก็มีไม่น้อยเช่นกัน

กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเกือบทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมของเอกชน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า-ทางด่วน จ่ายปันผลกันสูงตั้งแต่ 5-9% กันทั้งนั้น

ก็คงจะมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF เพียงกองเดียวกระมัง ที่เจอปัญหามาตรฐานบัญชี และไม่สามารถจะจ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยได้

ตลาดหุ้นที่ขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่อง ถือเป็นโอกาส ยิ่งลงทุนหุ้นปันผล ยิ่งนอนหลับ สบายใจดี

Back to top button