เจาะหุ้นเทรนด์รถอีวี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งประกอบด้วย มาตรการภาษี และมาตรการอื่น ๆ


เส้นทางนักลงทุน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งประกอบด้วย มาตรการภาษี และมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การลดอากรขาเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และให้เงินอุดหนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นการใช้รถอีวีในไทย 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ โดยจะมีผลบังคับใช้เดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ เมื่อผ่าน ครม. แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปออกกฎหมาย และทำสัญญากับค่ายรถที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีแรก (2565-2566) จะเน้นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน ส่วนในอีก 2 ปีถัดไป (2567-2568) จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก

ส่วนมาตรการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2565-2568 ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ 1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน 2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%  3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 และ 4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ 1. ผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ช่วงปี 2565-2566 ในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น

เบื้องต้นด้วย ครม. เคาะเห็นชอบมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” คือเมกะเทรนด์ที่กำลังมาเพื่อก้าวไปยังในอนาคต เพราะตอบโจทย์ทั้งเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งาน, การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากฟอสซิล รวมถึงโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ของหลายประเทศ

ดังนั้นเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ดำเนินธุรกิจอิงไปกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับประโยชน์ด้านบวกโดยตรงและทางอ้อม แยกออกเป็นกลุ่มย่อยดังนี้

กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ถูกคิดค้นเพื่อนำมาทดแทนแบบเดิมที่เป็นตะกั่วกรด ซึ่งเหมาะกับการใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า เพราะน้ำหนักเบา อายุใช้งานนาน และถูกยอมรับว่าเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานที่ดีที่สุด ในส่วนนี้ก็มีบริษัทอยู่ในตลาดเข้าไปลงทุน

สำหรับบริษัทที่ลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทั้งที่มีโรงงานในประเทศไทย และโครงการลงทุนเหมืองลิเธียมในต่างประเทศ อาทิ  บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA,  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EAบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  หรือ GPSC,  บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPUบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP  และ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ให้บริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ถือเป็นบริการปลายน้ำที่ต่อยอดมาจากการเติบโตของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นทางภาคเอกชนทยอยติดตั้งสถานีชาร์จมากขึ้นแล้วในบางพื้นที่ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงหลายบริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษาแผนเข้าลงทุนสถานีชาร์จไฟในอนาคต อาทิ  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTTบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ORบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCPบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ FORTH, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA,  บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์จะมีทั้งคนที่ได้ผลบวก และเจอผลกระทบเชิงลบ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนที่ใช้กับเครื่องยนต์สันดาป แต่เป็นบริษัทที่ประกอบชิ้นส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนพลาสติก เบาะ ยาง โคมไฟ ระบบปรับอากาศ

สำหรับหุ้นผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ EV 100% อาทิ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG,  บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TKT, บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI,  บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO,  บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ HFTบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH และ บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU

ขณะที่กลุ่มที่เป็น Hybrid/plug-in ก็จะมีหุ้น ได้แก่ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)  หรือ STANLY, บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ GYT

ในส่วนของผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีความสำคัญมากกับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยบริษัทผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในรถยนต์ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCEบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA

ท้ายสุดในส่วนของผู้ประกอบรถโดยสาร EV Car ไม่ว่าจะเป็น รถบัสไฟฟ้า มินิบัสไฟฟ้า และรถตู้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ใช้รถโดยสารประจำทางของภาครัฐ โดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจนี้ในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX, บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO, บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT  และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กรณี ครม. เคาะมาตรการแพ็กเกจสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า (EV/BEV) ส่วนของรถยนต์ จักรยานยนต์ และรถกระบะ โดยมองว่า EA และ NEX เป็นสองหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากเรื่องภาษีนำเข้ารถ EV ที่ลดลง ซึ่งยังไม่รวมแพ็กเกจรถ EV ที่ทางภาครัฐออกมา ส่วน GPSC จะได้รับผลประโยชน์จากแพ็กเกจ EV ในปี 2566-2567 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าโรงงานแบตเตอรี่จะผลิตแบตเตอรี่รถ EV ของ PTT-Foxconn

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างหุ้นที่มีโอกาสรับผลประโยชน์จากเทรนด์ยานยนต์ในอนาคต และมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของ ครม.!!

Back to top button