ผู้บริหารเฟ้อพลวัต2015

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะเข้าใจวัฒนธรรมของระบบบริหารในรัฐวิสาหกิจของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้กระจ่างมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป


นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะเข้าใจวัฒนธรรมของระบบบริหารในรัฐวิสาหกิจของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้กระจ่างมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

คำปรารภล่าสุดของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครม.วานนี้ ที่ว่า การแก้ปัญหาการดำเนินงานของ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ยังไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม ทั้งที่มีความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลายมิติแล้ว อาจเป็นไปได้ที่การแก้ปัญหามุ่งไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมากเกินไปจนละเลยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร

  “บางคนมีเงินเดือนถึง 2-3 แสนบาท ลักษณะอย่างนี้เป็นต้น” คือถ้อยคำโดนใจที่คนวงในเข้าใจกันดีว่า นี่คือ ประเด็นว่าด้วยผู้บริหารเฟ้อของบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง

ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารจำนวนมากใน THAI มีปัญหาล้นเกินความต้องการเพราะมีตำแหน่ง แต่ไม่มีงานทำ เดินกันขวักไขว่เต็มไปหมด ซึ่งถือเป็นการสูญเปล่าที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น แม้จะไม่ใช่การทำให้ขาดทุนโดยตรง แต่ก็เป็นความสูญเปล่าที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้เรื้อรังกันมายาวนานเพราะ ”เด็กเส้น”

เพียงแต่ว่า แท้จริงแล้วปัญหาผู้บริหารเฟ้อ ไม่ใช่ประเด็นหลักของ THAI เท่ากับปัญหาที่ใหญ่กว่าหลายเท่า

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ THAI ประกาศผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2558 ขาดทุนสุทธิ 8,218 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานธุรกิจการบินหลักจะขาดทุนสุทธิ 297 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุนสุทธิ 10,986 ล้านบาท ถึง 97% ซึ่งมีรายการพิเศษส่วนใหญ่ ได้แก่ ขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินที่ปลดระวาง ค่าใช้จ่ายพิเศษจากการปรับลดพนักงานตามแผนปฏิรูป กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการบวกกลับทางภาษี ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือช่วงโลว์ซีซั่น

แผนปฏิรูปโดยตัดการขาดทุน ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้และการขายเพิ่มขึ้น ของนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มมีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จนมีการปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินเพื่อลดการขาดทุน และปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) รวมทั้งจัดให้มีโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) สำหรับพนักงานทั่วไป และโครงการ Golden Handshake สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อบริหารอัตรากำลังที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดเที่ยวบินและเส้นทางบิน ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว แต่ความพยายามยังห่างไกลจากเป้าหมายมาก

ต้องให้นายกรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกองค์กรเข้ามากระตุ้น แต่ก็ทำได้ในจุดเล็กๆ ยังเกาไม่ถูกที่คัน

ความล้มเหลวของการปรับเปลี่ยนองค์กรบริหารของ THAI อยู่ที่เป็นการดิ้นรนจากแรงบีบคั้นทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตัวเลขหนี้สินมากถึง 1.8 แสนล้านบาท คือภาระสะสมที่ต้องทำการแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะภายใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทจะต้องเร่งออกหุ้นกู้ ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี เพื่อใช้คืนหนี้เดิม หรือลงทุน หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท  โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าว สามารถออกได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ อาจออกเป็นเงินบาทหรือสกุลอื่นเทียบเท่า 

การสับเปลี่ยนตัวผู้บริหารและประธานคณะกรรมการของบริษัท THAI ที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยไม่พยายามกล่าวถึงปัญหาความบกพร่องของระบบบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่เป็นรากเหง้าสำคัญที่แท้จริงของปัญหา สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาสะสมที่รุมเร้าให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจการบินพาณิชย์ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีทิศทางที่เด่นชัดในการรับมือกับสถานการณ์ที่รุมเร้าได้อย่างไร

หลายปีที่ผ่านมา THAI ต้องเผชิญกับปัญหาถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดทั้งจากคู่แข่งสายการบินประจำ (full-services) และโลว์คอสต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถึงขั้นที่มีสถิติยืนยันว่า ในประเทศ THAI เหลือส่วนแบ่งแค่ 40% ส่วนต่างประเทศในภูมิภาคเหลือแค่ 35% (ในปัจจุบันน่าจะต่ำลงไปอีกพอสมควร) มีรายได้เป็นอันดับที่ 10 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 23 ของโลก

รายได้ตกต่ำลงและกำไรลดลงโดยรวม เนื่องจากตลาดจีนและเอเชียปรับฐานลง และยังมีปัญหาการแข่งขัน นับจากค่าตั๋วที่ขึ้นยากและซับซ้อนมากขึ้น จนถึงต้นทุนหลากหลายที่บริหารยากขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน

ในกรณีของ THAI นั้น นักวิเคราะห์ทางการบินระบุว่า เป็นจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถ กำหนดตำแหน่งของการแข่งขัน เพื่อค้นหาให้ได้ว่าปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ ลูกค้าคือใคร คู่แข่งตัวจริงคือใคร

ความผิดพลาดทางนโยบายการตลาดและการพาณิชย์ดังกล่าว ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับประเด็นปัญหาหลักของการขาดทุนที่มักจะถูกหลบเลี่ยงไม่พูดถึงกันมายาวนาน คือ การซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ในปี 2550 จำนวนมหาศาลมากกว่า 35 ลำจากบริษัทแอร์บัสของยุโรป โดยไม่ได้มีแผนการตลาดรองรับที่เหมาะสม ส่งผลให้มีการนำเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ไม่เกิดรายได้ ต้องมีการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์(หมายถึงการซื้อเครื่องบินมาจอดเอาไว้เฉยๆ หรือใช้ไม่คุ้มค่าตามสมรรถนะของเครื่องบิน ซึ่งต้องบันทึกแยกจากค่าเสื่อมราคาของเครื่องบิน) ค่อนข้างสูงในแต่ละไตรมาส โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน

ภาพที่ขัดแย้งกันของผลประกอบการของ THAI ในหลายปีมานี้ อยู่ที่ตัวเลขของรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ในขณะที่ผลกำไรกลับถดถอยลง อยู่ที่ตัวเลขบันทึกขาดทุนด้อยค่าของเครื่องบิน และรายจ่ายพิเศษอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ถูกหมกเอาไว้

ส่วนปัญหาเรื่องของการมีผู้บริหารที่เฟ้อ ก็เป็นเพียงปัญหาส่วนน้อยเท่านั้น

 

 

Back to top button