CKP ทำไมเหนียวจ่ายปันผล
CKP ในเครือ ช.การช่าง กำไรสุทธิสิ้นงวดปี 2564 เติบโตจากปีก่อนหน้าหลายเท่าตัว ประมาณ โต 438% และกำไรต่อหุ้นทำนิวไฮที่ 0.27 บาท
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ในเครือ ช.การช่าง กำไรสุทธิสิ้นงวดปี 2564 เติบโตจากปีก่อนหน้าหลายเท่าตัว ประมาณ โต 438% และกำไรต่อหุ้นทำนิวไฮที่ 0.27 บาท นับตั้งแต่เข้าระดมทุนในตลาด แต่จ่ายปันผลเป็นเงินสดชนิดเหนียวยิ่งกว่าตังเม เพียงแค่ 0.08 บาทต่อหุ้น เท่านั้น
ทำให้มีคำถามว่า บริษัทที่หนี้ต่ำ แค่ ดี/อีเพียง 1.2 เท่า และมีกำไรสะสมสูงกว่า 3.61 พันล้านบาท จะเก็บเงินสดไว้ทำอะไร
ข้อนี้ ผู้บริหารของบริษัทอย่าง นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ออกมา ระบุว่าต้องการเก็บเงินสดไว้ลงทุน ตามแผนธุรกิจที่คาดหมายว่าปีนี้ CK ตั้งงบลงทุนปีน 2.6 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังผลิตแห่งใหม่ในลาว ซึ่งจะต้องลงทุนต่อเนื่องหลังจากโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เริ่มให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ…เหตุเพราะการก่อสร้างเขื่อนต้องการใช้เวลายาวมากประมาณ 10 ปีกว่า จะเริ่มมีรายได้ที่ยาวนานต่อเนื่อง
กำไรสะสมที่มีอยู่ล่าสุด ยังคงถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับแผนก่อสร้างเขื่อนในสปป.ลาวที่จะต้องเริ่มจริงจังอีกหลายหมื่นล้านบาทในอนาคต
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า CKP เป็นบริษัทใต้ร่มธงของกลุ่ม ช.การช่าง ทำภารกิจที่ง่าย ๆ แต่ชัดเจนคือ ลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า เคียงคู่กับบริษัทในกลุ่มนี้ อีกแห่งคือ TTW ที่ทำสาธารณูปโภคด้านน้ำประปา
งานหลักของบริษัทนี้คือ เป็นแนวหน้าในการแสวงหาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาจำหน่ายในประเทศที่มีความต้องการไม่สิ้นสุดผ่านเขื่อนและโรงงานไฟฟ้าหลายแห่งในสปป.ลาว
ภารกิจดังกล่าวไม่ใช่งานที่ทำง่าย ๆ เพราะดังที่ทราบกันดีว่า ชาติเพื่อนบ้านของเรานั้นมีความยากจน และมีกติกาในการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนค่อนข้างมาก
ปัจจุบัน CKP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์ อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และยังมี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง
ครึ่งแรกของปี 2564 CKP เผชิญกับการผันแปรของธุรกิจชนิดทำเอา “ขาอ่อน” ไปเช่นกัน เพราะขาดทุนต่อเนื่องกันในไตรมาสสอง จากผลพวงของขาดทุนรายได้ลดลงจากปริมาณน้ำในเขื่อน สปป.ลาว ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงในช่วงฤดูแล้ง (ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับโควิด-19) แต่ในไตรมาสสามและสี่ กลับทำผลงานดีเกินคาด ทำให้กลับมาทำกำไรสวยงาม พร้อมกับทำให้มีกำไรสุทธิเป็นกอบเป็นกำ ทำนิวไฮนับตั้งแต่เข้าตลาด ถือได้ว่าพ้นจุดต่ำสุดมาได้งดงามเกินคาด
เมื่อพ้นจุดต่ำสุดมาได้ ผู้บริหารของบริษัทก็เดินหน้าต่อทันที ด้วยการออกหุ้นกู้ล็อตใหม่เสริมสภาพคล่องเพื่อการลงทุนต่อทันที ไม่มีรีรอ
ความสำเร็จของการออกและเสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด อายุปานกลางระยะ 2 ปี, 3 ปี และ 7 ปี มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ จำนวน 3 ชุด (แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.31% ต่อปี จำนวน 1,000 ล้านบาท หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.62% ต่อปี จำนวน 1,500 ล้านบาท และหุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.76% จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุดได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับ “A- แนวโน้มคงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด) ทำให้หนี้ของบริษัทมีความยืดหยุ่นไม่ต้องกังวลกับต้นทุนการเงินมากนัก
การก่อหนี้ครั้งที่ทำให้ CKP มียอดหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขาย ทั้งสิ้น 10,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 0.74 เท่า ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทฯ
แผนงานทางการเงินที่ดีเยี่ยมของ CKP นอกจากทำให้มีสภาพคล่องที่ดี และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิและความสามารถทำกำไรสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้แผนรุกก่อสร้างเขื่อนใหม่ในสปป.ลาว รวมทั้ง เขื่อนกั้นน้ำแม่โขง เหนือเขื่อนเดิมที่ไซยะบุรีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพที่ไม่แพ้กัน ตามสัญญา BTO กับรัฐบาลสปป.ลาว ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาวแบบ “ปิดทองก้นพระ” นอกเหนือการสร้างกำไรเข้าบริษัทในระยะยาว
กำไรที่โดดเด่นอย่างมากในปี 2564 ทำให้มองเห็นล่วงหน้าได้เลยว่า กำไรในปีที่ผ่านมา เป็นแค่การเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของ CKP
จากประสบการณ์ทำงานในสปป.ลาวนั้น บริษัทที่ได้รับสัมปทานจะต้องช่วยจัดหาเงินกู้ในการนำมาร่วมลงทุนให้กับสปป.ลาวด้วย เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศดังกล่าวบางส่วน แม้จะไม่ได้ปล่อยเงินกู้ให้เอง แต่ก็ต้องทำเสมือนหนึ่งเป็นผู้ค้ำประดันเงินกู้ให้กับ สปป.ลาวโดยปริยาย
เงื่อนไข “จัดหาเงินกู้ให้” นั้นถือว่าแม้จะมีต้นทุนก็ยอมรับได้ ดีกว่าบางชาติที่ต้องการถือ “หุ้นลม” ในบริษัทร่วมทุนอย่างชุบมือเปิบไม่ต้องลงทุนแบกรับความเสี่ยงอะไรเลย
ผลประกอบการไตรมาสสาม ของ CKP ที่สามารถพลิกกำไรกลับมาสวยงามนั้น เกิดจากการกลับมามีรายได้รวม 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 6.5% และคิดเป็นกำไรสุทธิที่เป็นของ CKP จำนวน 831.3 ล้านบาท โดยที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากน้ำงึม 2 มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 405.2 ล้านหน่วยกว่าปีก่อน 35.4% ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 เพิ่มจาก 2,220 ล้านลบ.ม. ในปี 62 เป็น 2,386 ล้านลบ.ม. เพิ่มขึ้น 7.5%
ในส่วนของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น ในปี 2564 ทำให้มีปริมาณการขายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นโดดเด่นอย่างมากโดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าในเขื่อนไซยะบุรี เฉลี่ย 4,200 ล้าน ลบ.ม. ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562-63 ประมาณ 40%
ขณะเดียวกันอื่น ๆ เช่นโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่ 1 (BIC-1) และ 2 (BIC-2) ยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีแผนหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ในปีนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน
ผลการดำเนินงานของ CKP ในปี 2564 ที่เป็นสถิติใหม่ทั้งในด้านรายได้รวมและกำไรสุทธิ โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 64 เติบโตขึ้นได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ แม้ต้นทุนการก่อสร้างจะบานปลายจากการประท้วงของกลุ่มต่อต้านเขื่อนทั้งในลาวและทั่วโลก
ยอดรายได้ และความสามารถทำกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ยังชี้ให้เห็นถึงการสร้างโอกาสที่ผลิดอกออกผลงดงาม…แต่ราคาหุ้นที่ค่อนข้างหยุดนิ่งและถดถอยลงสวนทางกัน น่าจะถือเป็นโอกาสอันดีในการเลือกซื้อหุ้นราคาถูก (จากการที่ค่าพี/อียามนี้ ต่ำสุดในรอบกลายปี และถือเอาไว้ในระยะยาว)
เว้นเสียแต่ว่ามุมมองของนักลงทุนจะเป็นแบบเดียวกับกลุ่มคนต่อต้านเขื่อน และบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลาย…ก็เป็นอีกเรื่อง