ผลงานบจ.ดี SET ก็ต้องดี (สิ)

จีดีพี หรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเพียง 1.6% ในขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ปี 64 ที่คิดจากต้นปีมาสิ้นปี ปรับตัวสูงขึ้น 14.37%


จีดีพี หรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเพียง 1.6% ในขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ปี 64 ที่คิดจากต้นปีมาสิ้นปี ปรับตัวสูงขึ้น 14.37%

ปี 2565 จีดีพีคาดการณ์โดยสภาพัฒน์ฯ จะขยายตัวในราว 3.5-4.5% ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นปี จะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงเป็นเท่าใด

ไม่มีทฤษฎีหรือสูตรตายตัวในการคำนวณเรื่องนี้หรอกครับ และจึงไม่มีความสัมพันธ์ทางตรงที่ล้อกันไประหว่างจีดีพีกับดัชนีหลักทรัพย์ฯ แน่นอน

เศรษฐกิจที่ขยายตัวเพียงแค่ 1.6% จึงไม่มีส่วนเจือจุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นถึง 14% แน่นอน แต่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้จากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ

นั่นคือ การเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง เข้าออกตลาดได้โดยสะดวก ถือเป็นตลาดที่มีสเน่ห์ เป็นตลาดชั้นแนวหน้าในอาเซียนเลยเชียวแหละ และมีผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแรงกว่าปี 2563 ที่ถูกโควิดโจมตีเป็นปีแรก

เท่าที่ดูคร่าว ๆ ผมว่าผลประกอบการรวมบริษัทจดทะเบียนในปีที่ผ่านมา จะเติบโตในระดับตัวเลข 2 หลัก! เอาง่าย ๆ เลยล่ะ

ยกตัวอย่างผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 ธนาคารในปี 2564 มีผลกำไรรวม 182,938 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.30 จากผลกำไรรวมในปี 2563 เพียงแค่ 138,301 ล้านบาท

การที่ธนาคารกลางยอมผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการจัดชั้นลูกหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ก็มีการชดเชยด้วยการให้แบงก์ตั้งสำรองหนี้ในระดับสูง

เงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio) ในระบบสูงถึง 162.6% คิดเป็นเงินสำรองในระดับ 889,800 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ก็อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 19.9 เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดร้อยละ 8.5 เป็นอันมาก

ถือว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ฝ่าวิกฤตโควิดมาได้อย่างงดงาม และถือว่ามีความมั่นคงแข็งแรงที่ไว้วางใจได้ ไม่ต้องห่วงว่าแบงก์จะล้มครับ ปี 2565นี้ ก็จะเป็นปีที่แบงก์มีผลประกอบการที่ดีอีกปีหนึ่ง

หุ้นแบงก์จะกลับมา!

หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ มีหลักทรัพย์ตัวเด่น ๆ หลายตัว ที่ผลประกอบการยังรักษาอัตราการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ อาทิ AEONTS BAM HENG JMT KTC บล.เมย์แบงก์ ฟินันเซีย KGI เอเชีย พลัส ศรีสวัสดิ์ เมืองไทย แคปปิตอล และเงินติดล้อ ฯลฯ เป็นต้น

หลักทรัพย์ทุกตัวในกลุ่มนี้ ล้วนมีผลประกอบการเติบโตกว่าปีก่อนทั้งสิ้น

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในหมวดชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์และสารสนเทศการสื่อสาร ซึ่งมีหลักทรัพย์ตัวใหญ่ ๆ มากมายอาทิ DELTA HANA KCE SMT ฯลฯ ในกลุ่มชิ้นส่วนฯ และในกลุ่มสื่อสารซึ่งมีมาร์เก็ต แคปขนาดใหญ่ อาทิ  INTUCH ADVANC DTAC TRUE JMART ILINK-ITEL AIT และSYNEX ก็ยังคงมีผลประกอบการแข็งแกร่งอยู่มาก

หุ้นกลุ่มทรัพยากรในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค จะเป็นตัวพลิกเกมบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยผลประกอบการที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในปีที่ผ่านมา

กลุ่มบริษัทปตท.มีบทบาทมากที่สุดในกลุ่มนี้ และเป็นกลุ่มชี้นำกดดันตลาด จากผลประกอบการปี 2563 ที่อ่อนแอ กลับมาพลิกฟื้นมีกำไรอย่างคึกคัก

PTTEP กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 68% จากปี 63 กำไร 22,664 ล้านบาท มาเป็น 38,864 ล้านบาท, PTTGC กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 22,000% จากปี 63 กำไรเพียง 199.61 ล้านบาท มาเป็น 44,982 ล้านบาท

ส่วน TOP พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร จากขาดทุนสุทธิ 3,301 ล้านบาท ในปี 63 มาเป็นกำไร 12,578 ล้านบาท และ OR กำไรเพิ่มขึ้น 30% จากปี 63 จำนวน 8,791.07 ล้านบาท มาเป็น 11,474 ล้านบาท

คงมีแต่โรงไฟฟ้า GPSC ที่กำไรลดลง 8% มาอยู่ที่ 7,841 ล้านบาท

สำหรับบริษัทแม่ปตท.ที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทลูกทุกตัว พลิกจากกำไรแค่ 37,765 ล้านบาท มาเป็น 108,363 ล้านบาท หรือกำไรเพิ่มขึ้น 186.94%

คาดว่าผลประกอบการปี 65 ก็น่าจะดีกว่าปีก่อน นี่แหละเสาหลักใหญ่ที่ค้ำจุนตลาดหุ้นไทย

Back to top button