TTB สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
จุดที่น่าสนใจของ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ครั้งนี้ แตกต่างจากการควบรวมกิจการของธนาคารไทย เมื่อปี 2547
การควบรวมกิจการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต (TBANK) พร้อมเปลี่ยนแปลงชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต” เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การปรับเปลี่ยน “ภาพลักษณ์แบรนด์” (Rebranding) ภายใต้ชื่อทางการค้าว่าทีเอ็มบีธนชาต (TMB Thanachart) และเปลี่ยนชื่อหุ้นจาก TMB เป็น TTB เพื่อสื่อความถึงการรวมพลัง 2 ธนาคารเป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา
ตัวเลขกำไรสุทธิปี 2564 ที่ออกมา 10,474 ล้านบาท เติบโตเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 10,112 ล้านบาท นั่นหมายถึงผลลัพธ์การควบรวมกิจการยังไม่เฉิดฉายช่วงปี 2564 เพราะถูกหักทอนจากต้นทุนการปรับโครงสร้างภายในองค์กรและโครงสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงระบบ IT backbone ของธนาคารเพื่อรองรับบริการดิจิทัลและธุรกรรมธนาคารแบบออนไลน์ในอนาคต
แต่ปีนี้งบ TTB จะได้เห็นผลลัพธ์จากการปรับโครงสร้างและการทรานส์ฟอร์มสู่ธนาคารดิจิทัล และที่สำคัญพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) เติบโตทางลัดขึ้นมาทันที นั่นหมายถึงตัวเลขกำไรสุทธิปี 2565 จะสะท้อนผลประโยชน์จากการควบรวมได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งปี
การควบรวมกิจการดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก.! ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง โดยธนาคารธนชาต มีการควบรวมกิจการกับ ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) เมื่อช่วงปี 2554 หลังจาก SCIB เปิดดำเนินการมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2484 และมีการควบรวมกับธนาคารศรีนคร ช่วงปี 2545 ที่ผ่านมา ขณะที่ “ธนาคารทหารไทย” มีการควบรวมกิจการกับ 2 สถาบันการเงินของไทย มาแล้วเมื่อปี 2547
“ธนาคารทหารไทย” ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 เปิดดำเนินการเมื่อปี 2500 ที่ถนนราชดำเนิน เริ่มแรกมีพนักงานแค่ 26 คน เงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท มีเป้าหมายหลักคือการบริการด้านธุรกรรมการเงินให้กับหน่วยงานทหารและข้าราชการโดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และโชติ คุณะเกษม เป็นผู้จัดการคนแรกของธนาคาร
โดยปี 2525 ได้รับพระราชทานตราตั้งให้ธนาคารทหารไทย จำกัด เป็นธนาคารพาณิชย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีการเพิ่มทุนครั้งแรกจากจำนวน 10 ล้านบาท เป็นจำนวน 100 ล้านบาท และเพื่อเป็นการขยายช่องทางการระดมทุน ธนาคารได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 23 ธ.ค. 2526
จนมาปี 2540 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ (ต้มยำกุ้ง) ถือเป็นยุคตกต่ำของสถาบันการเงินถึงขีดสุด ไม่เว้นแต่ธนาคารทหารไทย ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน ทำให้ต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่ม เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทำให้ธนาคารทหารถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
นั่นคือการควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย-ธนาคารดีบีเอสไทยทนุและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT)” และใช้ชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เช่นเดิม มีผลตามกฎหมายตั้งแต่ 1 ก.ย. 2547 เป็นต้นมา การรวมกิจการดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (Universal Banking) รวมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายยิ่งขึ้น ถัดจากนั้นปี 2548 มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ธนาคารใหม่ โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า TMB (Bank Public Company Limited) จากเดิม “Thai Military Bank” (ที่สื่อความหมายว่าธนาคารของทหาร)
ช่วงปี 2550 TMB มีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ING Bank N.V. จำนวน 25,000 ล้านหุ้น ขณะที่กองทัพบก ไม่ได้เพิ่มเงินลงทุนตาม จึงทำให้กองทัพบก มีสัดส่วนถือหุ้น TMB เพียงแค่ 1% โดยผู้ที่ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือกระทรวงการคลัง 25% และ ING Bank N.V. 25% แม้ว่าผู้ถือหุ้นหลักจะไม่ใช่กองทัพบก แต่ยังคงใช้ชื่อ “ธนาคารทหารไทย” เช่นเดิม ด้วยความเกรงใจ “กองทัพบก” หรือรักษาความเป็น “รากเหง้าธนาคารทหาร” นั่นเอง
จุดที่น่าสนใจของ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ครั้งนี้ แตกต่างจากการควบรวมกิจการของธนาคารไทย เมื่อปี 2547 เนื่องด้วยครั้งนั้นเป็นการควบรวมกิจการเพื่อ “หนีตาย” ทั้ง “ดีบีเอสไทยทนุ-IFCT” และกระทั่งตัว “ทหารไทย” เอง.!
แต่ครั้งนี้เป็นการควบรวมกิจการเพื่อ “ต่อเติมเสริมความแข็งแกร่ง” ระหว่างฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งของ TMB และความเจนจัดเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) ของ TBANK และการก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง ที่เต็มรูปแบบมากขึ้น