Bank Run สั่นคลอนการเงินรัสเซีย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็น Bank Run ที่อาจลุกลามกลายเป็นการล่มสลายทางการเงินของรัสเซียกันเลยทีเดียว
หลังปรากฏข่าวสารออกมาว่าหลายประเทศทั่วโลก ประกาศ “คว่ำบาตรทางการเงิน” ประเทศรัสเซีย จากกรณีข้อพิพาทกับประเทศยูเครน ทำให้เกิดภาพประชาชนชาวรัสเซีย เกิดความตื่นตระหนก แห่ยืนต่อคิวหน้าธนาคารและตู้ ATM เพื่อรอต่อคิว “ถอนเงิน” ทำให้สื่อฝั่งตะวันตก ถือโอกาสพากันประโคมข่าวจนเกิดเป็นกระแสไวรัลและพุ่งเป้าว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็น Bank Run ที่อาจลุกลามกลายเป็นการล่มสลายทางการเงินของรัสเซียกันเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์ Bank Run นั่นคือเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากพากันแห่ถอนเงินสดออกจากธนาคาร เพราะขาดความเชื่อมั่น และกังวลว่าธนาคารจะล้มละลาย, ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ปรากฏการณ์ที่ว่านี้มักเกิดขึ้นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน จนธนาคารประสบปัญหาหนี้สิน และอาจนำไปสู่การล้มละลาย เป็นเหตุประชาชนต้องแห่พากัน “ถอนเงินสด” และ “ปิดบัญชี” เพื่อถือเงินสดและป้องความเสี่ยงเงินสูญที่อาจเกิดขึ้นได้
นั่นจึงทำให้ Bank Run (การวิ่งแห่ถอนเงิน) กลายเป็นสัญญาณบอกเหตุและซ้ำเติม ที่อาจรุนแรงจนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงได้..!!
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเงินโลก และหนึ่งในกรณีเลวร้ายสุดคือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงปี 1929-1931 (The Great Depression) และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟองสบู่แตก ทำให้ Bank of the United States สาขานิวยอร์ก ที่ประชาชนแห่ถอนเงินออกกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกกรณีคือช่วงวิกฤตซับไพรม์ (Hamburger Crisis) ช่วงปี 2007-2009 ในสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปทั่วโลก ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ ต้องล้มละลาย แพร่ระบาดจนธนาคารในยุโรปหลายแห่งต่างได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน อาทิ ธนาคารอังกฤษ คือ Northern Rock ที่หลังจากสำนักข่าวบีบีซี รายงานข่าวว่า ธนาคารเริ่มมีสถานะไม่มั่นคงจนอาจต้องขอให้รัฐบาลแทรกแซง ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ พากันแห่ต่อคิวเพื่อถอนเงินและปิดบัญชี เพียงแค่วันเดียวมีการแห่ถอนเงินถึง 1,000 ล้านปอนด์ จนรัฐบาลต้องโอนกิจการมาเป็นของรัฐในที่สุด
กรณีรัสเซีย หลังข้อพิพาทปะทุกลายเป็นสงครามกับยูเครน หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงกว่า 30% (ช่วงเวลาเพียงแค่ 3 วัน)
เนื่องมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ที่นอกเหนือจากมุ่งเป้าทางการเงิน การค้าและการส่งออกแล้ว แต่ยังมีการตัดธนาคารรัสเซียบางแห่ง ออกจากระบบ Swift นั่นหมายถึงการตัดตัวกลางการทำธุรกรรมการเงินกับโลกและอายัดเงินธนาคารกลางรัสเซียในต่างประเทศ ทำให้รัสเซีย ขาดสภาพคล่องอย่างหนักของระบบเศรษฐกิจในประเทศ
จนเป็นเหตุให้รัสเซีย ต้องออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อพยุงค่าเงินไม่ให้ล่มสลายทันที เริ่มจากประกาศขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวจากเดิม 9.5% เพิ่มขึ้นเป็น 20% ธนาคารชาติรัฐเซีย มีการปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินครั้งใหญ่ 7.33 แสนล้านรูเบิลหรือประมาณ 290,000 ล้านบาท
สั่งห้ามโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธุ์ขายสินทรัพย์ที่ถือครองโดยต่างประเทศ (Capital Controls) และบังคับให้บริษัทผู้ส่งออกต้องนำเงินสกุลต่างประเทศ ที่ได้จากการค้ามาซื้อเงินรูเบิลสัดส่วน 80% (Mandatory sales)
นั่นจึงทำให้เกิด Bank Run เกิดขึ้นตามทันที แต่สุดท้ายจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนว่า “จบเมื่อไหร่..และจบอย่างไร” เป็นสำคัญนั่นเอง..