พาราสาวะถี

ดินเนอร์สร้างภาพว่ารักใคร่กันดี หรือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินกันมากขึ้นตามระยะเวลาของการอยู่ร่วมกัน


ดินเนอร์สร้างภาพว่ารักใคร่กันดี หรือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินกันมากขึ้นตามระยะเวลาของการอยู่ร่วมกัน คนที่ร่วมวงรับประทานอาหารมื้อค่ำกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเมื่อคืนที่ผ่านมา รู้ดีว่าเป็นแบบไหน ไม่ว่าจะ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทยที่อยู่ในฐานะผู้ถูกมองว่าถือไพ่เหนือกว่าท่านผู้นำหรือเป็นผู้บีบไข่ที่แท้จริง ส่วน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จากประชาธิปัตย์ และ วราวุธ ศิลปอาชา จากชาติไทยพัฒนาก็ทำหน้าที่เล่นตามน้ำในสไตล์ที่ถนัด

อย่างไรก็ตาม ความประสงค์ของการนัดหมายดินเนอร์หนนี้ก็เป็นสิ่งที่เคยถูกเลื่อนมาจากครั้งก่อน หลังจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ในฐานะหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ ส่งเทียบเชิญพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้วแต่มีอันต้องพับแผนกันไปก่อนโดยอ้างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากปัจจุบันก็พบว่าการแพร่ระบาดของโควิดน่ากลัวกว่าก่อนหน้านั้นเสียด้วยซ้ำไป แต่ภายใต้การเมืองที่ถูกรุกหนักอย่างนี้พี่ใหญ่ไม่มีทางเลือกอื่นต้องเดินเกมโชว์พลังให้น้องเล็กได้สำเหนียก

อย่าลืมเป็นอันขาดความพยายามในการรุกเข้าไปกุมอำนาจในพรรคสืบทอดอำนาจของท่านผู้นำนั้นยังคงมีอยู่ ขณะที่พี่ใหญ่ก็ยังมีฐานกำลังที่หนุนอยู่จำนวนไม่น้อย ดังนั้นการเชิญน้องเล็กมาร่วมวงกินข้าวค่ำกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยฝีมือการประสานของตัวเอง ก็เพื่อจะแสดงว่าบารมีทางการเมืองของพี่ยังมีอยู่ แต่น่าคิดหนนี้พรรคเล็กที่ไม่ธรรมดาอย่างพลังท้องถิ่นไทของ ชัชวาลย์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน และชาติพัฒนาของ สุวัจนป์ ลิปตพัลลภ ที่ให้น้องชาย เทวัญ ลิปตพัลลภ กุมบังเหียน ไม่ได้มาร่วมวงด้วย

น่าสนใจเพราะเมื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถูกถามถึงประเด็นนี้ หลังประชุมครม.หรืออีกไม่กี่ชั่วโมงที่จะมีการพบปะกันไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ และท่านผู้นำก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที ประเด็นนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน หากมีการเชิญทั้งสองพรรคก็จะเกิดคำถามตามมาว่าแล้วพรรคเศรษฐกิจไทยที่มีส.ส. 18 เสียงซึ่งพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยืนยันมาตลอดว่ายังสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำไมไม่เชิญมา ตรงนี้ทำให้มองเห็นปัญหาการบริหารเสียงของฝ่ายรัฐบาลชัดเจนขึ้น

มันไม่ง่ายเหมือนที่มีใครการันตีด้วยจำนวน 260 เสียง เพราะถ้าจะกุมฐานเสียงได้ถึงขนาดนั้น หมายความว่าจะต้องมีการเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างดี แต่ผลจากการที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน กินแห้วในเก้าอี้ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง ย่อมเป็นสัญญาณให้เห็นว่า บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าพรรคไหนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงท่าทีได้ทุกเมื่อหากสิ่งที่พิจารณากันอยู่ทำท่าว่าจะไม่เกิดประโยชน์กับพรรคตัวเอง

ประเด็นว่าด้วยกฎหมายลูกนั้น แม้จะมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการคว่ำหรือเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระที่จะไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือพรรคร่วมรัฐบาลที่จะได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น แต่ตรงนั้นก็ไม่ใช่ไฮไลท์สำคัญในการประชุมสภาสมัยหน้าที่จะเกิดขึ้น เพราะจุดชี้วัดการอยู่หรือไปของผู้นำเผด็จการและคณะอยู่ที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ต่างหาก ร่างกฎหมายที่ว่ากันว่าถ้าเกิดการรวมหัวกันโหวตไม่ผ่านรัฐบาลต้องมีอันเป็นไปในทันที

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นสมัยประชุมที่ฝ่ายค้านจะสามารถยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือซักฟอกแบบลงมติได้ด้วย จนเกิดเป็นกระแสว่าจะมีการยุบสภาหนีการซักฟอกเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ด้วย ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าสู่โหมดไม่แน่นอน ต่อให้วางแผนกันมาอย่างไร มีกลไกเอื้อต่ออำนาจสืบทอดอำนาจพร้อมขนาดไหน ก็ไม่สามารถการันตีการอยู่ยาวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ ดังนั้นอะไรที่จะสามารถเปิดใจคุยกันหรือต้องยอมทุ่มทุนสร้างก็ต้องลงมือทำ

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเครียดจัดเข้าไปอีกคือ ปัญหาราคาน้ำมัน ยิ่งการแสดงวิธีการแก้ปัญหาด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนใช้รถเท่าที่จำเป็น และย้ำนักย้ำหนาว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาเพื่อใช้พยุงราคาเพื่อช่วยเหลือส่วนหนึ่งส่วนใดได้ตลอดเวลา มันก็เท่ากับเป็นการยอมรับสภาพความบ่มิไก๊ ไร้หนทางในการแก้ไขปัญหาของคนเป็นผู้นำและคณะที่ปรึกษาไปโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนย่อมมองเห็นว่าอยู่ไปก็ไร้ประโยชน์

สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจบอกว่าราคาพลังงานเอาเฉพาะราคาน้ำมันอย่างเดียวใช้เงินประมาณวันละ 600 ล้านบาทในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียว ลองคิดดูแล้วกันถ้ามันขึ้นอย่างนี้ไปทุกวันจะใช้เงินวันละเท่าไหร่ ถ้าใช้วิธีการแบบนี้ ฝากช่วยคิดด้วยแล้วกัน ถามว่าจะให้ใครช่วยคิด ใช่หน้าที่ของประชาชนหรือไม่ เรื่องการใช้รถเท่าที่จำเป็นนั้นมันก็จะสะท้อนถึงมันสมองของคนเป็นผู้นำอยู่แล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ว่าประชาชนสามารถที่จะฝากความหวังไว้ได้หรือไม่

หลังจากเงื้อง่าราคาแพงกันมานาน ที่สุดแล้วครม.ก็เคาะเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และนายกฯ เมืองพัทยาเรียบร้อย จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับกกต.ว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อใด หลังจากที่ได้วันแล้วกกต.จะต้องแจ้งกลับมาที่ครม. ภายใน 60 วันนับจากวันที่ 8 มีนาคม โดยที่ วิษณุ เครืองาม บอกว่า กกต.จะตอบกลับมาโดยใช้เวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์จากนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ สกลธี ภัททิยกุล จะลาออกจากรองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมประกาศลงสมัครชิงเก้าอี้ในนามอิสระ พร้อมกับข่าวถูกทาบทามจากพรรคสืบทอดอำนาจให้เป็นตัวแทนด้วย

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การยื้อเวลาเลือกผู้ว่าฯ กทม.มานานถึงขนาดนี้ เป็นเพราะพรรคแกนนำรัฐบาลไม่มีความพร้อมนั่นเอง ส่วน พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลากตั้ง จะลงสมัครหรือไม่ ฟังจากที่ให้สัมภาษณ์แล้วถ้าลงคงในนามอิสระเพราะพรรคสืบทอดอำนาจไม่หนุน แต่การที่จะต้องชนกับคนกันเองอย่างสกลธีก็ไม่น่าจะมีโอกาสกำชัยในการเลือกตั้งได้ พิจารณาตัวคนที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ถ้าเลือกตั้งกันวันนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่น่าจะพลาด แต่เวลาเหลืออีกหลายเดือนกว่าจะหย่อนบัตร ต้องรอดูจะมีกระแสหรือไอโออะไรมาเปลี่ยนใจคนเมืองหลวงได้หรือไม่

Back to top button