ต่างชาติลุยซื้อหุ้นโรงพยาบาล
ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ปรับตัวในทิศทางขาขึ้น โดยส่วนใหญ่ยืนเขียวบวกสวนทางตลาดหุ้นที่ทรุดตัวลงแรงจากการกระหน่ำขายของนักลงทุน
เส้นทางนักลงทุน
ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ปรับตัวในทิศทางขาขึ้น โดยส่วนใหญ่ยืนเขียวบวกสวนทางตลาดหุ้นที่ทรุดตัวลงแรงจากการกระหน่ำขายของนักลงทุน อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลผลกระทบจากพิษสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งสัญญาณยืดเยื้อยาวนานและบานปลายขยายวงกว้างกลายเป็น “สงครามเศรษฐกิจ” ซึ่งขณะนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะเป็นตัว “ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก” ที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ให้ต้องชะงักงันและเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากปัญหาราคาพลังงานพุ่งทะยานเพราะพิษสงครามครั้งนี้
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยท่ามกลางภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น แม้ดัชนีตลาด (SET INDEX) จะปรับตัวผันผวนในรอบ 9 วันทำการซื้อขาย (ช่วงระหว่างวันที่ 1-11 มี.ค. 2565) ที่สถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงขึ้น แต่ “นักลงทุนต่างชาติ” กลับเป็นฝ่าย “ซื้อสุทธิ” ในตลาดหุ้นไทยถึง 6,6797.60 ล้านบาท เช่นเดียวกับ “นักลงทุนทั่วไป” ที่มักจะถูกเรียกว่า “เม่าน้อย” ก็เข้ามา “ซื้อสุทธิ” ถึง 5,038.97 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ หรือ กองทุน เป็นฝ่ายขายสุทธิถึง 4,599.95 ล้านบาท ส่วนพอร์ตโบรกเกอร์ ขายสุทธิ 7,236.62 ล้านบาท
และนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-11 มี.ค. 2565) นักลงทุนต่างชาติ “ซื้อสะสม” หุ้นไทยแล้ว 84,132.15 ล้านบาท ตามด้วยพอร์ตโบรกเกอร์ที่มีแรงซื้อสุทธิเล็กน้อย 894.69 ล้านบาท ส่วนกองทุนยังเป็นผู้นำการขายสุทธิ 69,082.26 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 15,944.58 ล้านบาท
ท่ามกลางบรรยากาศการทรุดตัวลงของ SET INDEX ซึ่งในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา (ณ 11 มี.ค.2565) ทรุดลงไป 2.42% แต่ดัชนีหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล (HEALTH) กลับบวกสวนตลาด 10.79% นำโดย หุ้นบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และหุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงความเคลื่อนไหวในรอบกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาของ BDMS พบว่า ณ วันที่ 1 ก.พ. 2565 ราคาหุ้นตัวนี้ยืนอยู่ที่แถว ๆ 22.50 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ค่อย ๆไต่ระดับขึ้นมาจนถึงวันที่ 11 มี.ค. 2565 ทำจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 25.50 บาท ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น แม้ว่าช่วงระหว่างทางวันที่ 7- 8 มี.ค. 2565 ดัชนีตลาดหุ้นทิ้งดิ่งลึกลงไประหว่างชั่วโมงการซื้อขายกว่า 45 จุด และกว่า 30 จุด ตามลำดับ แต่ราคาหุ้นตัวนี้ยังสามารถยืนปิดได้สูงที่ 24.50 บาท โดยตลอด 1 เดือนกว่า ราคาหุ้นตัวนี้ดีดขึ้นไปแล้ว 13.33%
ส่วน BH ราคาหุ้นในช่วงเวลาเดียวกันปรับตัวสูงขึ้นจาก 142 บาท ไปทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างวันเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565ที่ 175 บาท ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยยืนปิดที่ 171.50 บาท และมาถึงล่าสุดวันที่ 11 มี.ค. 2565 ปิดที่ระดับ 166.00 บาท แต่ในรอบ 1 เดือนกว่า ๆ ราคาหุ้น BH พุ่งขึ้นไป 17.73%
แรงหนุนที่ทำให้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลไม่สะทกสะท้านต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากปัญหาดังกล่าวรวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง มีผู้ป่วยจากทั้ง 2 ประเทศนี้น้อย ขณะที่ราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นกลับทำให้ความมั่งคั่งของกลุ่มลูกค้าในฝากฝั่งตะวันออกกลางกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มที่สำคัญกว่า เพราะเป็นสัดส่วนลูกค้ากลุ่มใหญ่ในประเทศไทย
แม้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะมีผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น กดดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.28% ในเดือน ก.พ. และทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นด้วยก็ตาม แต่ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลจะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ให้กับผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องแบกรับภาระไว้เอง
พัฒนาการที่ดีของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังสะท้อนผ่านข้อมูลผลประกอบการในไตรมาส 4 ของปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่า รายได้ที่ไม่ได้มาจากโควิด-19 ของโรงพยาบาล 4 แห่ง ประกอบด้วย BDMS, BH, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG เมื่อรวมกันแล้วฟื้นตัว 30% คิดเป็นรายได้รวมกันราว ๆ 2.6 หมื่นล้านบาท และสูงแตะ 89% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
แนวโน้มโมเมนต์ตัมของกลุ่มโรงพยาบาลได้ส่งสัญญาณดีต่อเนื่องในปี 2565 นี้ เพราะผู้ป่วยคลายความกังวลในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกโรงพยาบาลด้วย
นอกจากนี้ภายหลังการเปิดเมืองตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นมา รายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติของ BDMS และ BH เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสก่อน เป็น 5.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และแตะระดับ 61% ของระดับในไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งคาดว่ารายได้จากผู้ป่วยต่างชาติจะเติบโต 24% จากปีก่อน เป็น 2.3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ จากการรักษาโรคซับซ้อนที่มีค่ารักษาและอัตรากำไรขั้นต้นสูง
BH และ BDMS ยังจะได้ประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียหลังหยุดความสัมพันธ์ไป 32 ปีอีกด้วย
ด้านรายได้จากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะมีความสำคัญน้อยลง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มสูงขึ้นทะลุหลักหมื่นรายต่อวัน แต่จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขปรับลดราคาเบิกจ่าย UCEP COVID ได้แก่ RT-PCR ลง 27-31% และลดค่าห้องผู้ป่วยสีเขียวลง 20-33% ทั้งกรณีการรักษาในโรงพยาบาล ฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม การกักตัวที่บ้านหรือชุมชน เป็นการเหมาจ่าย 6,000 บาทสำหรับผู้ป่วยที่รักษาน้อยกว่า 7 วัน และ 12,000 บาท สำหรับผู้ป่วยที่รักษา 7 วัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งการปรับลดนี้สะท้อนว่าจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ทำให้รายได้สูงขึ้นในระดับเดียวกัน แต่จะมีรายได้จากกลุ่มต่างชาติเข้ามาเสริม
ดังนั้นแม้จะมีแรงขายเพื่อทำกำไรหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลสลับออกมาบ้าง แต่ด้วยหลากหลายปัจจัยบวกเหล่านี้จึงถือเป็นคำตอบที่ดีว่าทำไม “นักลงทุนต่างชาติ” จึงเข้าซื้อ “สะสม” หุ้นไทยในกลุ่มนี้ จนดันดัชนีกลุ่มพุ่งขึ้นไปกว่า 8% สวนทางดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ทรุดตัวลงไปได้