นั่งทับมือ-ถือเงินสด รอของถูก
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองสถานการณ์ล่าสุด ไม่สามารถระบุได้ว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงถึงจุดต่ำสุด และราคาหุ้นถูกที่สุดแล้ว เพราะอาจมีถูกกว่านี้
เส้นทางนักลงทุน
นับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบันดูเหมือนว่าสงครามในครั้งนี้จะไม่จบลงง่ายๆ รวมทั้งยังถูกพัฒนาให้กลายเป็น ‘สงครามเศรษฐกิจ’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกด้วย
ในสงครามครั้งนี้ หากประเมินภาพรวมด่านขุมกำลัง ‘รัสเซีย’ เหนือกว่า ‘ยูเครน’ มาก แต่หากประเมินด้านเศรษฐกิจแล้ว ‘รัสเซีย’ กำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก หลังถูกทั่วโลกรุม ‘คว่ำบาตร’ ทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากเมื่อแยกพิจารณาผลกระทบจากสงครามที่มีต่อ “รัสเซีย” ในด้านค่าเงิน พบว่าค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงแล้วกว่า 40% นับตั้งแต่วันที่รัสเซียส่งทหารเข้าบุกดินแดนของยูเครน ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียร่วงลงไปกว่า 20% จนรัฐบาลรัสเซียต้องสั่งปิดทำการต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันธนาคารสำคัญหลายแห่งของรัสเซียยังถูกตัดออกจากระบบ SWIFT โดย Sberbank ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ต้องประกาศถอนธุรกิจในยุโรปทั้งหมด หลังเผชิญภาวะกระแสเงินสดไหลออกจำนวนมาก จนทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาเตือนถึงภาวะที่เสี่ยงจะ ‘ล้มละลาย’
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย (CBR) ต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.5% เป็น 20% ในคราวเดียว เพื่อประคองเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้สั่งห้ามเครื่องบินรัสเซียผ่านน่านฟ้าของตัวเอง ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่จากหลายประเทศร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านรัสเซียด้วยการถอนการลงทุนและยุติการให้บริการในรัสเซียเป็นการชั่วคราว
การคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อรัสเซียในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติตะวันตกด้วย เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวโพด ธัญพืช เหล็ก และสินแร่สำคัญอย่างพาลาเดียมรายใหญ่ของโลก
ดังนั้นด้วยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว จึงส่งผลให้ราคาของสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น นั่นย่อมกระทบต่อเงินเฟ้อโลกในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดของหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาต้องสะดุดลง
เบื้องต้นประเมินว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มประเทศยุโรป เพราะมีการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนถึง 1 ใน 3 รวมทั้งยังมีการลงทุนและการค้าที่เกี่ยวพันกับรัสเซียค่อนข้างมากด้วย โดยในด้านราคาน้ำมัน ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในกรอบ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนจะคลี่คลาย
นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.-5 มี.ค. 2565 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 20.60% จากระดับ 97.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะจุดสูงสุดที่ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้น 26.20% จากระดับ 91.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นยืนเหนือ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยล่าสุด WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. อ่อนตัวลงแตะระดับ 115.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดย JP Morgan Chase & Co. ระบุว่า ราคาอ้างอิงของน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสจะพุ่งไปถึง 185 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากปริมาณการผลิตจากรัสเซียยังคงหายไป
สำหรับประเทศไทย แม้กระทรวงพาณิชย์จะประเมินว่าผลกระทบทางตรงจากปัญหานี้ต่อการค้า การส่งออก และนำเข้าของไทย จะมีไม่มาก เนื่องจากไทยส่งออกไปรัสเซียเพียง 0.38% และส่งออกไปยูเครนแค่ 0.04% แต่ต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมจากราคาพลังงาน, ราคาเหล็กนำเข้ามาผลิตสินค้า และราคาธัญพืชนำเข้าเพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี ที่ราคาเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดนับแต่ปี 2551 จากความกังวลว่าอุปทานจางหายไป ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
หากพิจารณาผลสะท้อนจากปัจจัยลบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) พบว่าได้กดดันให้ดัชนีปรับตัวจากในช่วงสูงสุดที่ระดับ 1,713.20 จุด (18 ก.พ. 2565) ให้ทรุดตัวลงไปแล้ว 3.22% (11 มี.ค. 2565) ขณะที่ ในช่วง 8 วันทำการนับตั้งแต่เกิดการปะทะ SET INDEX ลดลงไป 2.16% อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยังคงเป้าหมาย SET INDEX ในปีนี้ ระดับ 1,800 จุด โดยเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นที่ตกแรงและเร็วจะสามารถรีบาวด์กลับมาได้ภายในระยะเวลาไม่นาน
แต่เพื่อความปลอดภัย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว และราคาหุ้นถูกที่สุดแล้ว เพราะอาจมี “ถูกกว่านี้” ก็เป็นได้ เพราะความเสี่ยงทางขาลงเปิดกว้าง โดยมีแนวรับระหว่างทางที่ 1,620 จุด หากหลุดลงไปแนวรับใหม่จะอยู่ลึกที่ 1,580 จุด ดังนั้นจึงแนะนำกลยุทธ์ให้นักลงทุน “นั่งทับมือไว้” ลดน้ำหนักการลงทุนด้วยการลดน้ำหนักหุ้นเหลือ 40% และหันมาถือเงินสด 60% เพื่อรอของถูก โดยอาจเลือกเก็งกำไรแบบกำหนดตัดขาดทุนได้ในกลุ่มโภคภัณฑ์ และรอซื้อเก็งกำไรที่แนวรับ เน้นหุ้นที่ทิศทางการเติบโตของผลประกอบการยังเป็นบวก
ซึ่งในนาทีนี้คงหนีไม่พ้นตระกูล ป. โดยเฉพาะ ปตท.สผ. ที่ผู้บริหารออกมาแย้มแล้วว่า ไตรมาส 1/2565 นี้ จะไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะได้รับอานิสงส์ทั้งจากราคาน้ำมันและยอดขายที่เพิ่มขึ้น