ระวัง ‘ข้าวยาก หมากแพง’
การบุกยูเครนของรัสเซีย กำลังจะคุกคามระบบอาหารทั่วโลก และน่าจะเกิดภาวะ “ข้าวยาก หมากแพง” มากยิ่งขึ้น เพราะ มันคือการซ้ำเติม
การบุกยูเครนของรัสเซีย กำลังจะคุกคามระบบอาหารทั่วโลก และน่าจะเกิดภาวะ “ข้าวยาก หมากแพง” มากยิ่งขึ้น เพราะ มันคือการซ้ำเติม ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากการระบาดของโควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมา เริ่มมีความหวั่นวิตกและคาดการณ์กันว่า ราคาอาหารจะพุ่งขึ้นอีก จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งรุนแรงไปทั่วโลก
สัญญาณแรกที่ชี้ว่าสินค้าจะหายากและมีราคาแพงมากขึ้นคือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ออกมาห้ามส่งออกสินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เช่น ยูเครนห้ามส่งออกธัญพืชหลายชนิดเช่น ข้าวบาร์เลย์ น้ำตาล เกลือ และเนื้อสัตว์จนถึงสิ้นปี ขณะที่อินโดนีเซียคุมการส่งออกน้ำมันปาล์มอย่างเข้มงวดมากขึ้น เซอร์เบียห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด แป้งและน้ำมันพืช ขณะที่ฮังการีห้ามส่งออกธัญพืชทั้งหมด
มีการคาดการณ์ว่า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นรุนแรงมากขึ้น และอาจจะทำให้เกิดวิกฤตหิวโหยอย่างรุนแรง องค์การสหประชาชาติได้เตือนว่า ต้นทุนอาหารโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว อาจพุ่งขึ้นอีกถึง 22% เนื่องจากสงครามขัดขวางการค้าและลดการเก็บเกี่ยวในอนาคต
ธัญพืชเป็นอาหารหลักที่เลี้ยงโลก โดยข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของแคลอรีที่บริโภคทั้งหมด ขณะเดียวกันค่าขนส่งที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานพุ่งสูง สภาพอากาศที่มีความรุนแรง และการขาดแคลนแรงงาน ยิ่งทำให้การผลิตอาหารยากมากขึ้นไปอีก
ในขณะที่อุปทานกำลังหดตัว รายงานของ International Grains Council ชี้ว่า สต๊อกธัญพืช มีแนวโน้มที่จะลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และสงครามในยูเครนยิ่งหนุนราคาธัญพืชให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความหิวโหยพุ่งไปถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ราคาอาหารโลกกำลังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนีราคาอาหารของสหประชาชาติ พุ่งขึ้นมากกว่า 40% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน และคาดว่าประชากร 45 ล้านคนจะอดอยากมากขึ้น
สัญญาณที่สองที่ชี้คือ ตลาดตราสารสินค้าเกษตรทะยานขึ้นเช่นกัน ราคาข้าวสาลีในตลาดชิคาโกทำสถิติสูงสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ขณะที่ราคาข้าวโพดและถั่วเหลือง มีการซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบหลายปี
การออกมาตรการของรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อรักษาเสบียงอาหารในบ้านไว้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้ออาหารพุ่งขึ้นยืดเยื้อเป็นเวลานาน แม้ว่าประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์อาหารรายใหญ่อย่างเช่นอินเดีย อาจจะช่วยชดเชยการขาดแคลนอาหารได้ แต่ก็มีหลายประเทศที่เป็นซัพลายเออร์อาหารรายใหญ่ ก็มีปัญหาในการผลิตเช่นกัน เช่น บราซิล ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวโพดและถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก ต้องประสบภาวะภัยแล้ง ขณะที่แคนาดาและในบางส่วนของสหรัฐฯ ก็เกิดความแห้งแล้งมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าเกษตรกรอาจจะปลูกพืชผลเพิ่มเพราะมองเห็นว่า ราคาจะสูงขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่จะเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ปุ๋ยที่จะช่วยเร่งเพิ่มผลผลิต ก็กำลังมีราคาพุ่งขึ้น
รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตโปแตช ฟอสเฟต และไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนผสมในปุ๋ย รายใหญ่สุดของโลก ได้เรียกร้องให้บริษัทปุ๋ยในประเทศลดการส่งออก จึงยิ่งเพิ่มความกังวลว่าปุ๋ยจะขาดแคลน แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวว่า รัสเซียจะจำหน่ายปุ๋ยให้กับประเทศที่มี “ความสัมพันธ์ฉันท์มิตร” กับรัสเซีย แต่ก็ย้ำชัดว่า จำเป็นต้องป้อนปุ๋ยให้กับตลาดภายในประเทศก่อน
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นคือ การโจมตียูเครนของรัสเซียทำให้เรือขนส่งสินค้าในทะเลดำหยุดชะงัก เจ้าของเรือกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกเรือ และเบี้ยประกันภัยสูง นอกจากนี้ทะเลดำยังเป็นตลาดส่งออกปุ๋ยสำคัญด้วย
การต่อสู้กับการขึ้นราคาของสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่พึ่งพาอุปทานจากต่างประเทศ ในขณะนี้เราจึงมักได้เห็นข่าวว่า ชั้นวางสินค้าในหลายประเทศว่างเปล่า และมีการตุนสินค้ากันยกใหญ่ เช่น ในตุรกี มีการกว้านซื้อน้ำมันดอกทานตะวันอย่างหนัก เพราะกังวลว่า ราคาจะเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ก็ยังต้องจำกัดจำนวนซื้อต่อคนตามซูเปอร์มาร์เก็ต จนเกิดคิวยาวเหยียด
ความกังวลเรื่องเสบียงอาหารยิ่งเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่าง จีนและอินเดีย โดยในขณะนี้จีนกำลังซื้อข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐฯ เพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
หากรัสเซียและยูเครนยังตกลงกันไม่ได้ และยังคงมีการคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป และการระบาดของไวรัสโคโรนาที่กลับมาระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในเมืองใหญ่ของจีนจนต้องล็อกดาวน์เสิ่นเจิ้นอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีความเป็นไปได้สูงมากว่า ระบบอาหารโลกจะวิกฤตหนัก และ “ข้าวจะยาก หมากจะแพง” ไปทุกหย่อมหญ้า และที่สำคัญคนจนก็จะยิ่งหิวโหยมากขึ้น
เรื่องนี้อาจจะมองว่าเป็นโอกาสสำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเราก็ได้ถ้ามีการบริหารจัดการซัพพลายและดีมานด์ภายในประเทศให้ดี ๆ แล้วยังเหลือส่งออกได้ แต่เท่าที่ได้ยินข่าวทุกวัน ชาวบ้านร้านตลาดก็บ่นกันตรึมว่าสินค้าทุกอย่างแพงหมด
ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองได้เตรียมรับมือ หรือรู้สึกได้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนกันหรือยัง หวังใจว่าจะไม่ได้ยินคำแนะนำให้ไป “เลี้ยงไก่บ้านละสองตัว” เหมือนเมื่อตอนไข่แพงอีก “นะจ๊ะ” !!