พาราสาวะถี
วาระการประชุมหลักที่น่าสนใจ คงเป็นเรื่องของการปรับลดมาตรการคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและคนไทยที่มาจากต่างประเทศ
วันนี้มีประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะผู้อำนวยการศบค.จะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน วาระการประชุมหลักที่น่าสนใจ คงเป็นเรื่องของการปรับลดมาตรการคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและคนไทยที่มาจากต่างประเทศ จากเดิมที่จะให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง จะยกเลิก เหลือแค่การตรวจเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยด้วยวิธี RT-PCR และตรวจแบบ ATK ในวันที่ 5 พร้อมลดเงินประกันสุขภาพจาก 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ เหลือ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ เป้าหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ทางภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมจะเสนอให้มีการยกเลิกระบบเทสต์ แอนด์ โก การกักตัวและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยปรับมาให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ต หรือหลักฐานการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ก่อนเข้าประเทศเท่านั้น เหตุผลที่เสนอเช่นนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย หวังดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ตรงนี้อยู่ที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยหรือไม่
ทุกอย่างย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะอีกด้านทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกมาเตือนว่า จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีการลงทะเบียนยืนยันทั่วโลกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งที่ระดับการตรวจหาเชื้อได้ลดลงไปอย่างมากแล้ว โดย เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก มองว่า จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เรากำลังเห็นอยู่นี้เป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” และทราบกันดีว่าเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น การเสียชีวิตก็จะสูงตามมาด้วยเช่นกัน
ขณะที่ มาเรีย ฟอน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า รายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเป็นทางการทั่วโลกแล้วกว่า 6 ล้านราย แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นจะสูงกว่านี้หลายเท่า ซึ่งกรณีนี้ในประเทศไทยทางกระทรวงสาธารณสุขก็ยอมรับเองว่าเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอัตราการป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต จะต้องสูงตามไปด้วย นั่นจึงยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่าแล้วจะมีการผ่อนคลายมาตรการ โดยยึดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากกว่าความปลอดภัยของประชาชนอย่างนั้นหรือ
การเมืองของประเทศไทย 8 ปีให้หลังมานี้ต้องยอมรับกันว่าถอยหลังเข้าคลองชนิดที่มองไม่เห็นว่าจะนำพาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขบวนการการใช้กระบวนการทางด้านกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง ท่ามกลางข้อกังขาของสังคมจำนวนมาก แต่ไม่อาจเอาชนะขบวนการที่จัดตั้งกันมาได้ ทุกอย่างได้ถูกวางกลไกไว้เพื่อฝ่ายอำนาจนิยมทั้งสิ้น นั่นมันจึงทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศถูกมองว่ามีปัญหา นำไปสู่การไม่ยอมรับของผู้คนทั้งที่ในอดีตไม่เคยเป็นเช่นนั้น
วันนี้มีประเด็นที่ท้าทายความชอบธรรมต่อการตีความข้อกฎหมายอีกครั้ง ว่าด้วยปมการดำรงอยู่ในตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญของ วรวิทย์ กังศศิเทียม ที่มีปัญหาว่าต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เหตุมีอายุครบ 70 ปีหรือไม่ เพราะภายในองคาพยพของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีการทุ่มเถียงกันว่า วรวิทย์เข้ามาในตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกฉีกทิ้งโดยคณะเผด็จการคสช.ไปแล้ว จะต้องยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่าหรือไม่ เพราะฉบับนั้นประธานศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้ไปจนถึงอายุ 75 ปีบริบูรณ์
ความจริงประเด็นนี้ถ้าไม่หัวหมอหรือมีลับลมคมในใด ๆ และเพื่อความสง่างาม องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำให้ถูกมองว่าหวงอำนาจ ยึดติดกับตำแหน่งอย่างที่เป็นอยู่ เมื่อปัจจุบันรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้คือปี 2560 ก็ควรต้องยึดตามนั้น สิ่งสำคัญคือ การตีความถ้าไม่ใช่พวกหัวหมอหรืออยากอยู่ในตำแหน่ง ควรที่จะจบในกระบวนการของตัวเอง ไม่ใช่เลือกที่จะส่งกลับไปให้ฝ่ายคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาเป็นผู้วินิจฉัย
โดยที่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ประเด็นว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้น ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญเราต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการพ้นจากตำแหน่งตามวาระกรณีหนึ่ง และการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นอีกกรณีหนึ่ง อันที่จริงรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญก็มีการบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วกรณีของวรวิทย์ว่าเป็นเช่นไร
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เกิดความเห็นแตกต่างกันในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีการเสนอเรื่องนี้ให้ทางเลขาธิการวุฒิสภาเสนอให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด มีประเด็นปัญหาที่อาจต้องทำความเข้าใจว่า จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการสร้างกลไกใหม่ขึ้นเพื่อวินิจฉัยปัญหาคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่มี แต่คณะกรรมการสรรหาก็มีขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่จำกัด
นั่นก็คือ จะมีอำนาจวินิจฉัยก็เฉพาะแต่ในประเด็นการพ้นจากตำแหน่งด้วยการขาดคุณสมบัติบางกรณี หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นั่นหมายความว่าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีการส่งเรื่องไปให้เลขาธิการวุฒิสภาเพื่อส่งให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยกรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ “นอกเหนืออำนาจ” ของคณะกรรมการสรรหาที่จะวินิจฉัยได้
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ความเห็นของ ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จึงน่าขีดเส้นใต้อย่างยิ่ง กรณีควรปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างให้คนทั้งหลายได้เห็นว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญยังคงสามารถเป็นหลักให้คนทั้งหลายนับถือได้ แต่ปรากฏว่าได้เกิดปัญหาขึ้นจนได้ รัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศเป็นกฎหมายสูงสูด ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุด พลิกพลิ้วมารับใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลจนหาแก่นสารใด ๆ มิได้ บทบัญญัติแม้ชัดเจนเพียงใด ก็พลิกพลิ้วให้เป็นอย่างอื่นไปตามใจชอบ ทำให้ขื่อแปบ้านเมืองพินาศสิ้น