ตอบโจทย์ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ

ศึกหมีขาวรัสเซียกับลูกแกะยูเครน จะส่งผลกระทบยาวแค่ไหน นี่นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการยิงถล่มหลายเมืองในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา ก็กินเวลาปาเข้าไปกว่า 3 สัปดาห์แล้ว หมีขาวยังเผด็จศึกไม่ลง


ศึกหมีขาวรัสเซียกับลูกแกะยูเครน จะส่งผลกระทบยาวแค่ไหน นี่นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการยิงถล่มหลายเมืองในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา ก็กินเวลาปาเข้าไปกว่า 3 สัปดาห์แล้ว หมีขาวยังเผด็จศึกไม่ลง

ผู้สันทัดกรณีทางยุทธศาสตร์บอกว่า รัสเซียรบแบบนี้ เหมือนไม่ตั้งใจจะพิชิตศึกให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะเอาแต่ทิ้งบอมบ์จากเครื่องบิน ยิงปืนใหญ่ ยิงแต่ขีปนาวุธระยะไกลใส่อาคารบ้านเรือน กระทั่งโรงพยาบาล

แต่ดันไม่เน้นส่งทหารราบเข้าไปโจมตีและยึดครองพื้นที่

มองกันไปถึงขนาดว่า การสู้รบจะจบลงบนโต๊ะเจรจามากกว่า เพียงแต่ไม่รู้แน่นอนว่าเมื่อไหร่ และฝ่ายคู่กรณี ใครจะได้ใครจะเสียและมากน้อยแค่ไหน

ตลาดหุ้นไทย ตกใจกันอยู่เกือบครึ่งเดือน ที่ในวันเปิดยุทธการวันแรก (24 ก.พ.) ดัชนีหลักทรัพย์ฯ หล่นตุ๊บลงมา 33 จุดจาก 1,696 จุดมาอยู่ที่ 1,662 จุด และหลังจากนั้นก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตกหนักที่สุด หลุดแนวรับ 1,600 จุดมาถึง 1,580 จุด เมื่อวันที่ 8 มี.ค

ในวันที่รัสเซียเพิ่มปฏิบัติการโจมตีหัวเมืองภาคใต้ของยูเครน และในวันนั้น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ทะลุไปถึง 130 ดอลลาร์/บาร์เรล

แต่หลังจากนั้นมา ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ค่อยฟื้นตัวมาในระดับ 1,680 จุดแล้ว ถือว่าตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามเพียงนิดหน่อย ขณะนี้กลับมาสู่ระดับใกล้เคียงกับตอนก่อนสงครามแล้ว (ดัชนีปิดวันที่ 23 ก.พ.ที่ 1,696 จุด)

สงครามยุติลงได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยเท่านั้น

ผลกระทบการค้ากับไทย ไม่สู้มีมากสักเท่าไหร่นัก แม้รัสเซียและยูเครน ต่างก็เป็นประเทศที่ครอบครองทรัพยากรหายากมหาศาล อาทิ ยูเรเนียม ไททาเนียม แร่เหล็ก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สินค้าเกษตรกรรมก็มีมากมาย อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดและน้ำมันทานตะวัน ฯลฯ

แต่สิ่งที่ก่อเกิดผลกระทบหนักที่สุดในเวลานี้ คือราคาน้ำมัน ซึ่งผลจากการที่ชาติตะวันตกรวมหัวกันคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้อุปทานก๊าซจากรัสเซียที่หล่อเลี้ยงยุโรปถึง 40% และน้ำมันอีก 30% หายออกไปจากตลาด ทำให้ชาวโลกรวมทั้งไทย เดือดร้อนไปทั่ว

ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไป 47 บาทแล้ว แก๊สโซฮอล์ 95 ราคาก็บานไปเกือบ 40 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลราคานโยบาย 30 บาท ก็ต้องลดภาษีน้ำมันลงมา 2.80 บาท และดึงเงินจากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน 5.80 บาท

เมื่อไหร่ รัฐเลิกเอาเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน ราคาจำหน่ายปลีกดีเซล คงไม่อยู่ในราคานี้แน่นอน อาจจะไหลไปถึง 36-37 บาทด้วยซ้ำ

ราคาน้ำมัน ก่อเกิดเงินเฟ้อที่อันตราย!

นั่นคือ เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนพุ่ง (Cost Push) ไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการ (Demand Pull) ที่ว่าอันตรายก็เพราะสินค้าและบริการมีราคาแพง ในขณะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือที่เรียกว่าStagflation”

นับเป็นเงินเฟ้อที่แก้ไขได้ยากที่สุดและต้องใช้เวลานานในการแก้ไข

ในเรื่องของนโยบายราคาน้ำมันนี้ ผมว่ารัฐบาลทำถูกที่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตลงมาเกือบจะครึ่งหนึ่งคือ 2.80 บาท และยอมกู้เงินมาให้กองทุนน้ำมันตรึงราคากว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว

แนวโน้มราคาน้ำมันโลก หลุดต่ำระดับ 100 เหรียญฯ/บาร์เรลมาแล้ว แต่ก็น่าจะมีความจำเป็นในการกู้ยืมเงินมาตรึงราคาน้ำมันต่อไป

กองทุนน้ำมัน เพิ่งจะกู้ยืมเงินมา 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ในช่วงปี 2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปกว่า 140 เหรียญฯ กองทุนน้ำมันยังต้องกู้ยืมเงินไปตรึงราคากว่า 8 หมื่นล้านบาท รัฐบาลยุคหลังต่อมาค่อยทยอยใช้คืนในระยะเวลา 2 ปีจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงมา

ฉะนั้น จึงไม่ควรจำกัดเพดานการกู้เงินกองทุนน้ำมันเพียงแค่ 4 หมื่นล้านบาท ถ้าจำเป็นก็ต้องทะลุเพดานออกไป เพื่อรักษาอัตราค่าครองชีพประชาชน เพราะภาวะราคาน้ำมัน มิได้จะขึ้นไปตลอดเวลาเช่นเดียวกับตลาดหุ้น

วันไหนราคาน้ำมันลดลงมา ก็ย่อมเป็นจังหวะที่กองทุนน้ำมันจะชดใช้หนี้ ดังเช่นแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาแล้วของรัฐบาลในอดีต รัฐบาลชุดนี้มาถูกทางแล้วในการตรึงราคาน้ำมัน เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่อันตราย

การสิ้นสุดของสงคราม และการบริหารราคาน้ำมัน คือการตอบโจทย์ตลาดหุ้นและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย

Back to top button