สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทำไทยเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจโตต่ำ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) โลกในปีนี้ลง
เส้นทางนักลงทุน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) โลกในปีนี้ลง หลังนานาประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในเชิงลบหลายประการ รวมทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ฟื้นตัวได้ช้าอยู่แล้ว เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ใหม่อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้จากรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ซึ่งปรับตัวลงเล็กน้อยจากระดับ 5.9% ในปี 2563
เศรษฐกิจรัสเซียจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน ซึ่งผลสำรวจของธนาคารกลางรัสเซีย ที่จัดทำระหว่างวันที่ 1-9 มี.ค. คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในรัสเซียมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 20% และเศรษฐกิจรัสเซียเสี่ยงหดตัวมากถึง 8% ในปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มเฉลี่ยที่ 18.9%
ด้านค่าเงินรูเบิลร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังรัสเซียรุกรานยูเครน ตามมาด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากบรรดาชาติตะวันตก ซึ่งตัดธนาคารกลางรัสเซียและธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียจากระบบการเงินโลก
ธนาคารกลางรัสเซียแก้เกมโดยได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.5% สู่ 20% เป็นการด่วน ทั้งยังประกาศควบคุมเงินทุน และสั่งการให้บริษัทส่งออกขายเงินตราต่างประเทศ หลังค่าเงินรูเบิลร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว
จากรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF เมื่อเดือน ม.ค. ยังคาดการณ์ด้วยว่า GDP สหรัฐอเมริกา จะขยายตัว 4.0% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.2% รับผลกระทบจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงิน ขณะที่ GDP จีน ซึ่งเคยเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะขยายตัวที่อัตรา 4.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.6% โดยได้รับผลกระทบจากนโยบาย zero-Covid policy รวมทั้งภาวะตึงตัวทางการเงิน โดยมีสาเหตุจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตามล่าสุด โกลด์แมน แซคส์ ได้นำร่องปรับลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ เพราะคาดว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่พุ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียเข้าบุกยูเครน จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย โดยปรับลดคาดการณ์ในปี 2565 ลงสู่ระดับ 2.9% จากเดิม 3.1% และปรับลดคาดการณ์ GDP ในไตรมาส 4 ปีนี้ของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ 1.75% จากเดิม 2% มองว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอีก หากมีการขาดแคลนโลหะสำคัญที่ทำให้การผลิตของสหรัฐฯ หยุดชะงัก และมีโอกาส 20%-35% ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ส่วนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและเอเชีย อาจได้รับผลกระทบตามมาบ้าง
ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ ประเมินสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะร่วงลงได้อีกในระยะสั้น เนื่องจาก
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อรวมกันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเติบโตลดลงได้ ในขณะที่เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก
ค่าเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียร่วงลงอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ค่าเงินของประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันสูง เช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์ ถูกกระทบรุนแรงที่สุด โดยเงินสกุลรูปีร่วงลงทำสถิติในสัปดาห์ก่อน
มอร์แกน สแตนลีย์ ได้ปรับลดคาดการณ์สกุลเงินในเอเชียส่วนใหญ่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าลงจากเดิม แต่ยังมองว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายลง
การทยอยออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP โลก รวมทั้ง GDP สหรัฐฯ ของสถาบันการเงินชั้นนำของโลกเหล่านี้ ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มสูงมากที่ GDP ไทยจะถูกปรับลดลงจากองค์กรเหล่านี้อีกรอบหรือไม่ เพราะประเทศคู่ค้าหลักของไทยได้รับผลกระทบ
ก่อนหน้านี้ในรายงานของ IMF เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ขยายตัวของ GDP ไทยลงสู่ระดับ 4.1% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% แล้ว
โดยในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้นำร่องปรับประมาณการขยายตัวของ GDP ไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.5-4.5% จากเดิม 3.0-4.5% แล้ว ขณะที่มองอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยับมาที่ 2.0-3.0% จากเดิม 1.5-2.5% ส่วนการส่งออก คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ตามเดิม
กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อ การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามทิศทางราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่าระดับ 3% ได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ส่วนการท่องเที่ยวโดยภาพรวมไม่น่าจะกระทบมากนัก
นับจากนี้จึงต้องจับตามองว่า “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” หรือ “สศช.” จะมีการปรับลด GDP ของไทยลงจากคาดการณ์เดิมที่ว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ในปี 2565 นี้ หรือไม่