พาราสาวะถี

เห็นการจัดทัพของพรรคเศรษฐกิจไทยแล้ว นอกเหนือจาก พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนที่เหลือล้วนแต่เป็นคนสนิทของ ธรรมนัส พรหมเผ่า


เห็นการจัดทัพของพรรคเศรษฐกิจไทยแล้ว นอกเหนือจาก พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนที่เหลือล้วนแต่เป็นคนสนิทของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคทั้งสิ้น แม้กระทั่งเหรัญญิกพรรคก็ยังเลือก “จุ๊บจิ๊บ” ธนพร ศรีวิราช ภรรยาของผู้กองมันคือแป้งมาทำหน้าที่ เช่นนี้แล้วที่พี่ใหญ่ไปยืนยันกับน้องรักว่าเสียงของพรรคการเมืองนี้สนับสนุนรัฐบาลและท่านผู้นำแน่นอนนั้น มันไว้ใจกันได้จริงหรือ

แม้จะมีการนัดหมายพรรคเล็กต่าง ๆ มากินข้าวปลอบใจไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์นักข่าวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแบบคุยฟุ้งว่า บรรยากาศการดินเนอร์กับพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเลิศเลอ ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องการเมือง หรือข้อแลกเปลี่ยน ไม่มีสัญญาใจใด ๆ ทั้งสิ้น และยังบอกด้วยว่าทุกคนมาเจอกันแบบสุภาพบุรุษ นักการเมืองก็ต้องเป็นนักการเมือง ทุกคนคาดหวังให้มีการปฏิรูปทางการเมือง แต่ไม่วายตั้งคำถามการปฏิรูปทางการเมืองก็ต้องปฏิรูปที่ตัวเราก่อนใช่หรือไม่

ยังคงแสดงออกถึงความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจนักการเมืองอยู่ดี นั่นจึงทำให้ท่านผู้นำถึงกับร้อง “โอ๊ะ” พร้อมกับเดินออกจากโพเดียมแถลงข่าวทันทีที่ถูกนักข่าวถามว่าไม่ต้องห่วงเรื่องการหักหลังกันอีกใช่หรือไม่ เช่นเดียวกันกับการไม่ตอบคำถามที่ว่านัดหมายกันใหม่ครั้งหน้าจะมีการเชิญพรรคเศรษฐกิจไทยเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น การนำไปต่อจิ๊กซอว์กับการให้สัมภาษณ์ของธรรมนัสต่อการไม่ร่วมวงกินข้าวกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มันจึงทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าที่พี่ใหญ่บอกคุมไม่ได้นั้นน่าจะจริง

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมีการเชิญพรรคเล็กไปร่วมกินข้าวเพื่อหวังที่จะซื้อใจใช้เสียงในสภาไว้ค้ำยันเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น ธรรมนัสก็มองว่ากำลังหลงประเด็นกันมากกว่า เพราะจะเห็นได้ว่าคนที่คุยกับตนแล้วไปทานอาหารร่วมกับท่านผู้นำและรัฐบาลนั้นเป็นอย่างไร เห็นกันอยู่วันนี้ก็มาร่วมงานกับพรรคเศรษฐกิจไทยกันหลายคน คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก จะพูดให้ชัดก็คือให้รู้เสียบ้างว่าใครที่ใจถึงพึ่งได้ ดูแลดีไม่มีบิดพลิ้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยประกาศว่าพรรคจะได้ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าถึงหลักร้อยรายนั้น เป็นลีลาที่จะต้องแสดงออกเช่นนี้ ที่สำคัญคือต้องไปพิจารณารายชื่อของคนที่มาร่วมงานและมองว่าจะเป็นผู้สมัครของพรรคด้วย เท่าที่เห็นนอกเหนือจาก 18 ส.ส.วันนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตผู้สมัครหรืออดีตส.ส.ที่กลายเป็นตัวเลือกลำดับสามหรือสี่จากพรรคใหญ่ เช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เสียมากกว่า

แต่การเดินเกมการเมืองในสไตล์ธรรมนัสนั้นต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดา รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งในหลายพื้นที่ก็มีโอกาสที่จะได้เก้าอี้ส.ส.ในตัวเลขสองหลักไม่ยาก หากการตั้งรัฐบาลยังเป็นไปเหมือนหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โอกาสที่จะได้เข้าร่วมก็มีอยู่สูง ส่วนพรรคสืบทอดอำนาจนั้น นอกเหนือจากสายตรงของพี่ใหญ่ที่มีอยู่ 40-50 เสียงแล้ว เวลานี้กำลังมีการประเมินกันอยู่ว่าสายตรงของน้องเล็กจะมีการแยกตัวไปสังกัดพรรคใหม่ที่จะเป็นของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเองหรือไม่

ในทางการข่าวค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า พรรครวมไทยสร้างชาติที่มีการส่งหัวหมู่ทะลวงฟันอย่าง เสกสกล อัตถาวงศ์ ไปเฝ้าคอกไว้ก่อนหน้านั้น จะเป็นพรรคหลักที่สนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในการไปต่อ ท่าทีของด็อกแต๋วที่เรียกร้องให้สมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาลลาออกแล้วย้ายเข้าคอกพรรคที่สนับสนุนท่านผู้นำอย่างแท้จริงนั้น มันบ่งบอกชัด ส่วนคนที่จะมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคตัวจริงตามข่าวแม้เจ้าตัวจะปฏิเสธคงไม่มีอะไรผิดไปจากนั้น นั่นก็คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คนที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นมือเป็นไม้ทางการเมืองให้ท่านผู้นำนั่นเอง

แน่นอนว่าพรรคการเมืองนี้จะเสนอชื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง แล้วก็จะมีชื่อของพีระพันธุ์เป็นตัวสำรองไว้ เผื่อเหลือเผื่อขาดหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ก็จะมีสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจที่เป็นส.ส.ทยอยลาออกมาสังกัด ทั้งหมดก็จะเป็นสายตรงของท่านผู้นำที่น่าจะมีจำนวน 20-30 เสียง และมีความเป็นไปได้ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะกลายร่างมาเข้าก๊วนนี้

หมากเกมทางการเมืองในลักษณะนี้ มันไปตอกย้ำภาพความขัดแย้งของพี่ใหญ่กับน้องรักในแก๊ง 3 ป. ไม่ว่าจะสร้างภาพอย่างไรก็ไม่สามารถประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่การจัดทัพเพื่อรับมือกับศึกเลือกตั้งใหญ่เท่านั้น สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็จะเป็นตัวบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่าทั้ง สกลธี ภัททิยกุล ที่เป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. กับ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลากตั้งที่กำลังจะตัดสินใจไขก๊อกในเร็ววันนี้ จะเคยมีที่มาจากผู้สนับสนุนเดียวกันก็ตาม

แต่ปรากฏว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองหลวงรอบนี้ พี่ใหญ่เลือกที่จะถือหางสกลธีด้วยเหตุสายสัมพันธ์กับพ่อนั่นก็ส่วนหนึ่ง หลักใหญ่ใจความคือมีแรงหนุนมาจากกปปส.ฝั่งที่ทำให้คนของพรรคสืบทอดอำนาจได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส่วนการตัดสินใจเอาช่วงโค้งสุดท้ายของพลตำรวจเอกอัศวินนั้น นอกจากแรงหนุนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว ยังบรรลุข้อตกลงร่วมกับแกนนำกปปส.ที่คุมเสียงแนวร่วมฝั่งตะวันออกของกทม.ได้ จึงทำให้มีความหวัง

ทว่าการเลือกผู้ว่าฯ กทม.ต้องตัดทิ้งจากภาพสนามการเมืองใหญ่ ถ้าคนกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะเบื่อหน่ายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ และอยากลองของใหม่โดยมีสินค้าที่ถูกใจมารอไว้ให้เลือกการตัดสินใจก็จะไม่ลังเลอะไร แต่ที่ต้องย้ำกันตลอดก็คือสถานการณ์ทางการเมืองมันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา คนที่ชนะจากผลสำรวจของทุกโพลอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องยอมรับว่าถ้ามองหน้าเสื่อคู่แข่งเวลานี้ก็เป็นรองกันทุกประตู แต่เมื่อเข้าสู่สนามชิงชัย ไม่รู้ว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ ถ้าไร้วิธีการสามานย์ทุกอย่างก็จะเดินไปในลักษณะที่เรียกว่าม้วนเดียวจบ

Back to top button