แบตเตอรี่ EV กับวิกฤติต้นทุนลิเธียม

จากสถานการณ์ความตรึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปต้องมีต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย


ขณะที่โลกของ “รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป” กำลังเผชิญหน้ากับราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปต้องมีต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ถูกจับตาว่าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปได้เร็วขึ้น

แต่ทว่าจากข้อเท็จจริงพบว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า กำลังเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนแบตเตอรี่รถ EV ด้วยเช่นกันหลังความต้องการ “แร่ลิเธียม” มากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจหรือแม้แต่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปยุคนี้ ล้วนพึ่งพาการใช้งานแบตเตอรี่

เริ่มตั้งแต่แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ชนิดที่ได้รับความนิยมมากคือ “ลิเธียมไอออน” (lithium-ion) หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ชนิดนี้คือ ลิเธียม (lithium) นั่นเอง

นั่นทำให้ความต้องการลิเธียมภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น ส่งผลทำให้ความต้องการลิเธียมสูงขึ้นต่อเนื่องตามไปด้วย จนมีรายงานว่าอัตราเพิ่มของราคาขายลิเธียมช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นด้วยอัตราเร่งมากสุดรอบหลายปี

รายงานจาก S&P Global ช่วงเดือนธันวาคมปี 2021 ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าหากความต้องการใช้ลิเธียมสูงขึ้นอีก ช่วงปี 2022 นั่นหมายความถึงแนวโน้มภาวะของขาด เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอัตราการใช้งานวัตถุดิบแซงหน้าการผลิตและใช้วัตถุดิบที่เก็บสะสมไว้จนหมดลง

โดยมีการบ่งชี้อีกว่าการผลิตลิเธียมคาร์บอเนต ที่จะถูกนำมาแปรรูปเป็นโลหะลิเธียม จากนั้นจึงนำมาทำเป็นขั้วแคโทด (cathode) ในแบตเตอรี่ สรุปแล้วการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 636,000 เมตริกตันช่วงปี 2022 แต่ความต้องการขยับไปสู่ระดับที่ 641,000 ตัน

รายงานเปิดเผยอีกว่าราคาขาย “ลิเธียมคาร์บอเนต” ในประเทศจีน (ผู้ผลิตแบตเตอรี่มากสุดแห่งหนึ่งของโลก) อ้างอิงสถิติจาก Trading Economics พบว่า ราคาขายเมื่อสิ้นสุดปี 2021 อยู่ที่ 261,500 หยวนต่อตัน (มากกว่า 41,060 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดือนมกราคมปี 2020

ล่าสุด (17 มี.ค. 65) ราคา “ลิเธียมคาร์บอเนต” มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า มาอยู่ระดับเกือบ 500,000 หยวนต่อตัน

ทีมนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ประเมินว่า จากความต้องการรถ EV ในตลาด จะทำให้ราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยส่งผลทำให้ราคาแบตเตอรี่ เพิ่มสูงขึ้นราว 18% และกระทบต่อศักยภาพการทำกำไรจากการขายรถของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องมาจาก “แบตเตอรี่” ถือเป็นต้นทุนสัดส่วน 20-40% ของต้นทุนทั้งหมด ในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

นั่นเท่ากับว่าราคาต้นทุนลิเธียม หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่ปรับตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อาจทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าต้องขยับตามด้วยเช่นกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว จะกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรและอุปสรรคต่อความสำเร็จเชิงธุรกิจ ในการเปลี่ยนจากโลก (เก่า) “รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป” ไปสู่โลก (ใหม่) “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)” เพราะนั่นหมายถึงทำให้รถ EV ถูกจำกัดให้เป็นรถเฉพาะกลุ่มกันต่อไป..!!

Back to top button