THAI วิบากกรรมยังไม่สิ้น
ผลพวงจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิดูดีขึ้น ไม่สามารถกลบข้อเท็จจริงที่ส่วนของมูลค่าตามบุ๊กแวลูของ THAI ยังติดลบที่ 34 บาท
วันที่ 8 มีนาคม 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกคำสั่งห้ามการซื้อขายหุ้น 2 บริษัทจดทะเบียนสำคัญในตลาดหุ้น คือ บริษัท บางกอกโพสต์ และบริษัทสายการบินที่เคยชื่อว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด
บางกอกโพสต์คือเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เคยได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลที่สุดในตลาดสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทย ส่วนสายการบินนั้นได้ชื่อว่าเคยเป็นสายการบินสำคัญแถวหน้าของโลก …แต่ทั้งสองบริษัทนั้นกำลังย่ำแย่ทางการเงินจนส่วนของทุนติดลบ ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่
การบินไทย หรือ THAI นั้นเลวร้ายสุด ๆ เพราะรายได้ที่เหือดหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้หดหายอย่างรุนแรง จนเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และต้องการกลับมาใหม่ภายใต้บริษัทบริหารแผน
งบการดำเนินงานปี 2564 ของ THAI มีกำไรสุทธิมากถึง 5.5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นกำไรทางบัญชีที่ไม่มีผลอะไรมากเพราะเกิดจากการกลับงบทางบัญชีในการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ผลการดำเนินงานมีตัวเลขก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) นอกจากนั้นยังมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 9,490 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,704 ล้านบาท
งบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2564 ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท (51%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) รายได้จากการบริการอื่น ๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท (23.29%) เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ
รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งลดลง และมีการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ส่งผลให้มีตัวเลขลดลงกว่า 22%
ผลพวงจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิดูดีขึ้น ไม่สามารถกลบข้อเท็จจริงที่ส่วนของมูลค่าตามบุ๊กแวลูของ THAI ยังติดลบที่ 34 บาท แต่ที่เสียหายหนักในระยะยาวก็คือการที่ปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังผลให้กระทรวงการคลังที่เคยถือหุ้นมากกว่า 90% ต้องจำยอมลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงเหลือเพียง 47% แล้วให้กองทุนวายุภักษ์เข้ารับภาระถือครองหุ้นแทน
การที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นลงต่ำกว่า 59% ทำให้ THAI สูญเสียสิทธิ์การเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ไปเพราะไม่อาจจะตีความอย่างอื่นได้นั่นคือไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไปแล้ว
สิทธิการเป็นสายการบินแห่งชาติคืออภิสิทธิ์ที่เคยให้ THAI สามารถผูกขาดอภิสิทธิ์การเลือกเส้นทางบินก่อนสายการบินอื่น ๆ และสามารถเลือกหลุมจอดหรือเลาน์ต้อนรับผู้โดยสารในสนามบินสำคัญและสิทธิ์ในการใช้สนามบินต่างประเทศแทนประเทศไทย
สิทธิ์ที่หายไปนี้ ผสมกับการที่ต้องลดจำนวนเครื่องบินลงไปเหลือเพียงแค่เครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัสเพียงแค่ 4 รุ่น จำนวนต่ำกว่า 65 ลำ ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ที่มีไว้กับบรรดาเจ้าหนี้ ทำให้เหลือบริการที่จำกัดรายได้ลงไปมากมาย
แม้ข้อดีของการปรับลดรายจ่ายจากการมิใช่รัฐวิสาหกิจ จะช่วยทำให้อำนาจของสหภาพแรงงานอภิสิทธิ์สูญสิ้นไปอย่างมาก และการจ่ายภาษีรายได้ของพนักงานแทนที่เคยทำให้บริษัทมีต้นทุนที่ไม่จำเป็นปีละกว่า 4 พันล้านบาท จะหายไป แต่ก็ดูจะไม่คุ้มกันกับรายได้และและสิทธิ์ที่เคยได้รับมากมายเกินจริง
การพักห้ามซื้อขายหุ้นของ THAI จึงมีเหตุผลสมควร แต่ก็ทำให้คนที่เคยติดหุ้นอยู่ จำต้องทนรับสภาพอย่างไม่มีทางเลือกไปจนกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสั่งปลดป้าย SP ออก เพื่อให้กลับมาซื้อขายได้อีก …ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกลับตัวเลขขาดทุนสะสมและตัวเลขยอดหนี้ที่มากมายนับแสนล้านบาท
ระหว่างนี้ ต้องทำใจกันไปพลาง ๆ ครับ