การเมืองหัวแตก?
“ครอบครัวเพื่อไทย” ชูอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ประกาศทวงคืน 14 ล้านเสียง ประธาน ส.ส.อีสานเชื่อมั่นจะกวาด ส.ส.เขต 250 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 30 คน
“ครอบครัวเพื่อไทย” ชูอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ประกาศทวงคืน 14 ล้านเสียง ประธาน ส.ส.อีสานเชื่อมั่นจะกวาด ส.ส.เขต 250 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 30 คน
เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองจะต้องประโคมโหมโรง แต่ทำได้จริงไหมเป็นอีกเรื่อง เอาเข้าจริงอาจได้น้อยกว่านั้น เพราะเงื่อนไขเปลี่ยนไปหลายด้าน
เลือกตั้ง 54 เพื่อไทยได้ 15.7 ล้านเสียง (ไม่ใช่ 14 ล้าน) เลือกตั้ง 62 ได้ 7.8 ล้าน พรรคอนาคตใหม่ 6.3 ล้าน พรรคเสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ รวมกัน 1.7 ล้าน แต่จะบอกว่า 8 ล้านเสียงที่เลือกพรรคอื่นมาจากคนเคยเลือกเพื่อไทยทั้งหมด ก็ไม่น่าใช่ แม้อนุมานได้ว่าคะแนนอนาคตใหม่กึ่งหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่บางเขตอนาคตใหม่ก็ชนะเพื่อไทย เพราะได้เสียงคนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางในเมือง “กลับใจ” ไม่เอาประยุทธ์
งั้นคะแนนเพื่อไทยหายไปไหน ก็ไปกับตัวบุคคลที่ย้ายไปพลังประชารัฐ เช่นกำแพงเพชรยกจังหวัด เพชรบูรณ์ ธรรมนัส ฯลฯ แม้อีสานส่วนใหญ่ยังเหนียวแน่น
เลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยกับก้าวไกลจะยิ่งแยกฐานเสียงชัดเจน แถมมีพรรคไทยสร้างไทย ที่เพิ่งภาคภูมิใจ 30 ปีสุดารัตน์ ประกาศส่งผู้ว่า กทม.แข่งชัชชาติ-วิโรจน์ ส.ส.เพื่อไทยบางคนก็แย้มทิศทางแล้วว่า เลือกข้างหญิงหน่อย
พูดอย่างนี้เดี๋ยวว่ามองโลกแง่ร้าย ฝ่ายค้านแตกกระจาย “ตัดคะแนน” กันเอง แต่หันไปดูรัฐบาล ก็แหลกลาญยิ่งกว่า โดยเฉพาะพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำ
ซึ่งหลังจากธรรมนัส 18 ส.ส.แยกไปตั้ง “พรรคป้อม 2” เศรษฐกิจไทย สมัยหน้าก็ไม่รู้ว่า “พรรคป้อม 1” พปชร.จะยังอยู่หรือไม่ จะเป็นพรรคอันดับเท่าไหร่ จะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ ไหม หรือประยุทธ์หนีไปพรรคอื่น
เพราะมีข่าวแรมโบ้ เอ็นหัวไหล่ขาด จะตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จะเป็นหัวเรือใหญ่ บางกระแสก็ว่าสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมพลังประชาชาติไทย จะรวมเป็นพรรคเดียวกัน ถ้าจริงก็เป็นทิศทางพรรคอุดมการณ์อนุรักษนิยม เพียงสงสัยว่างั้นพรรคหมอวรงค์อยู่ตรงไหน
พรรคประชาธิปัตย์ก็แยกไปเป็นพรรคกล้า ซึ่งแข่งกันเองในฐานคนชั้นกลางในเมืองฝั่งขวา แต่ใน ตจว. ปชป.ลงหลักปักฐาน “บ้านใหญ่” ทุนท้องถิ่นสำคัญกว่านักการเมืองปากกล้า กระทั่งโฆษกพรรคอาจไม่ได้ลงสมัครบ้านเกิดตนเอง
ปชป.เหมือนฟอร์มดี แต่น่าแปลกใจที่ อภิชัย เตชะอุบล นักธุรกิจใหญ่ ลาออกสละเก้าอี้ ส.ส.ไปเป็นแม่ทัพคุมเลือกตั้ง สก.ให้พลังประชารัฐ
นอกจากนี้ยังมีพรรคใหม่ สร้างอนาคตไทยไปกับอุตตม-สนธิรัตน์ อดีตหัวหน้า-เลขาพรรค พปชร. ซึ่งใครก็รู้ว่าชูสมคิดแต่ยังยึกยัก ทั้งที่น่าจะมีภาคธุรกิจสนับสนุนกลุ่มทุนเต็มใจลงขัน
พรรคเดียวที่ไม่หวั่นไหวเพราะจุดยืนมั่นคง ใครเป็นรัฐบาลเข้าข้างนั้น คือพรรคหนู-เน สั่งสมกำลังดูดกวาด ส.ส.ตั้งแต่อนาคตใหม่ถึง พปชร. เป็นพรรคการเมืองที่ลูบปากได้ทุกยุคสมัย
ภูมิทัศน์การเมืองตั้งแต่เลือกผู้ว่า กทม.ไปถึงเลือกตั้งใหญ่ จึงเห็นชัดว่าแต่ละขั้วแต่ละข้างแข่งกันหลากหลาย จนมองไม่ออกแล้วว่าใครตัดคะแนนใคร
แม้พรรคอันดับหนึ่ง (ซึ่งคงเป็นเพื่อไทย) ได้เปรียบ หากใช้กติกาบัตร 2 ใบ 400-100 แต่ก็ยาก “แลนด์สไลด์” เพราะการเมืองเปลี่ยน ประชาชนมีความคิดหลากหลาย แม้ในฝ่ายไม่เอาประยุทธ์
การเมืองแบบนี้มองมุมหนึ่งก็จะทำให้รัฐราชการ เครือข่ายอนุรักษนิยม กุมอำนาจเข้มแข็งมั่นคง แม้พรรคสืบทอดอำนาจแพ้ เพราะผลเลือกตั้งจะกระจายไปตามพรรคต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลาย พรรคฝ่ายค้านก็ไม่เป็นเอกภาพ
แต่นั่นก็เป็นทิศทางที่ต้องยอมรับ การเมืองจะพัฒนาไปบนความหลากหลาย ความไม่เป็นเอกภาพอาจเป็นอันตรายต่ออำนาจอนุรักษ์มากกว่าเป็นเอกภาพด้วยซ้ำ