พาราสาวะถี

หากฟังแต่พาดหัวข่าวแล้วไม่อ่านรายละเอียด ก็จะทำให้คนไทยตื่นตระหนกตกใจกันอย่างมาก กับประเด็นที่ว่าพบโควิดสายพันธุ์ไฮบริดเดลตาครอนในบ้านเราถึง 73 ราย แต่พอฟังสิ่งที่ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจกแจงก็คือ ผู้ป่วยที่พบทั้งหมดนั้นเป็นการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วและมกราคมปีนี้ ทั้งหมดรักษาหายไปเรียบร้อยแล้ว วันหลังจะตั้งโต๊ะแถลงกันแบบนี้ก็ช่วยบอกนักข่าวเอาไว้ด้วยว่าอย่าเอาไปพาดหัวให้คนหวาดกลัว รู้กันอยู่คนไทยจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือกันแค่ไม่กี่บรรทัด


หากฟังแต่พาดหัวข่าวแล้วไม่อ่านรายละเอียด ก็จะทำให้คนไทยตื่นตระหนกตกใจกันอย่างมาก กับประเด็นที่ว่าพบโควิดสายพันธุ์ไฮบริดเดลตาครอนในบ้านเราถึง 73 ราย แต่พอฟังสิ่งที่ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจกแจงก็คือ ผู้ป่วยที่พบทั้งหมดนั้นเป็นการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วและมกราคมปีนี้ ทั้งหมดรักษาหายไปเรียบร้อยแล้ว วันหลังจะตั้งโต๊ะแถลงกันแบบนี้ก็ช่วยบอกนักข่าวเอาไว้ด้วยว่าอย่าเอาไปพาดหัวให้คนหวาดกลัว รู้กันอยู่คนไทยจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือกันแค่ไม่กี่บรรทัด

สิ่งสำคัญหากใครที่กลัวเรื่องโควิดเดลตาครอน ก็ต้องตั้งสติและทบทวนจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเวลานี้ อาจจะเรียกได้ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เดลต้านั้นแทบจะไม่มีเหลือแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสายพันธุ์ดังว่าก็มีความเป็นไปได้ยาก ต้องอย่าลืมเป็นอันขาดเวลานี้กระทรวงสาธารณสุขโดยหมอการเมืองทั้งหลายที่เกี่ยวข้องมองไปถึงการนำพาโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นกันแล้ว ตามแผนบันได 4 ขั้นที่ประกาศกันไป

ครึกโครมและน่าสนใจขนาดไหนต่อการประกาศทิศทางแบบนี้ของกระทรวงสาธารณสุขไทย ถึงขนาดที่สื่อต่างประเทศอย่าง Voice of America ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยทีเดียว แต่เป็นมุมที่นำเสนอแล้ว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของไทยคงต้องไปดูเนื้อหาและชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสื่อดังกล่าวระบุว่า ความพยายามของทางการไทยในการเปลี่ยนสถานะของโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น นำไปสู่การลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

โดยที่เป้าหมายดังกล่าวของฝ่ายกุมอำนาจ ได้สร้างความกังวลให้กับคนไทยอีกไม่น้อย ทั้งนี้มีการไปสัมภาษณ์ แกรี โบเวอร์แมน นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวของทวีปเอเชียที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มองว่าประเทศไทยต้องระมัดระวังในการตั้งเป้าหมายในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 นั้นคาดเดาไม่ได้ แม้เดือนกรกฎาคมคือการกำหนดเป้าหมาย แต่ก็ทราบกันดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมาการกำหนดเส้นตายที่ยากและรวดเร็วนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม โบเวอร์แมนก็มองอย่างเข้าใจในท่าทีของรัฐบาลไทยว่า สถานะโรคประจำถิ่น เป็นเรื่องเล็กน้อยในการสื่อสารกับสาธารณชน เพื่อพยายามเปลี่ยนวิธีคิดภายในประเทศ เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ครั้งสำคัญ สถานการณ์ที่ประเทศประสบอยู่คือการปิดตัวอย่างสมบูรณ์ยาวนานถึง 2 ปี และตอนนี้ได้เปิดแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดครั้งใหญ่ แม้มันไม่ได้อยู่ที่แต่ละประเทศจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่อยู่ที่การตัดสินใจขององค์การอนามัยโลก แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลไทยถึงทำแบบนั้น

คงอย่างที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพยายามสื่อสารหลังประชุมครม.นั่นแหละ ว่าไม่ได้บอกว่าโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววัน ไม่ได้เร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน แต่ทุกอย่างต้องมีการวางแผน และมีขั้นตอนปฏิบัติ เป็นธรรมดาของพวกที่ใช้คนจากฝ่ายความมั่นคงมานำบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งหมดมันจึงเต็มไปด้วยคำถามที่สุดแล้วสิ่งที่ทำกันไปเพื่อความมั่นคงของบุคคลของพวกพ้อง หรือเพื่อประชาชนและประเทศชาติกันแน่

เกรงว่าหลังจากที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศ 10 มาตรการช่วยเหลือปัญหาภาระค่าครองชีพของประชาชนจะไม่ได้ใจชาวบ้านหรืออย่างไรไม่ทราบ วันนี้ (24 มีนาคม) ช่วงบ่าย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน จึงจูงมือ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง พร้อมคณะแถลงถึงรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว แต่ก็มีการส่งกระบอกเสียงรัฐบาลมาออกหมัดแย็บไปล่วงหน้าแล้วว่า มีประชาชนได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้กว่า 40 ล้านคน

เมื่อเป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอดก็คงต้องแจกแจงกันเป็นพิเศษหน่อย ความจริงคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วและยังดำเนินต่อไป การคลอดมาตรการนี้ออกมาจึงช้ากว่าความเดือดร้อนของประชาชน มากไปกว่านั้น ตรงนี้ไม่ได้ทำให้ภาวะที่คนกำลังเผชิญหมดไปเป็นเพียงแค่ช่วยบรรเทา อย่าลืมเป็นอันขาดว่า บรรดาสินค้าทั้งหลายที่อาศัยจังหวะขึ้นราคาด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ หลังเข้าสู่ภาวะปกติก็จะฉวยโอกาสคงราคาไว้แบบนี้ ไม่ได้มีการลดลงมาแต่อย่างใด

นี่ต่างหากที่คนอยากเห็นศักยภาพของคนเป็นผู้นำ ที่มีเครือข่ายของบรรดานายทุน เจ้าสัวของประเทศให้การหนุนหลัง ใช้คอนเนคชั่นที่มีเจรจาต่อรอง ขอร้องให้ช่วยกันดูแลเรื่องราคาที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง รู้กันอยู่แล้วดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีสินค้าแค่ไม่กี่ตัว ที่วันนี้ก็เห็นกันอยู่ว่าใครเป็นเจ้าตลาด หรือความจริงแทบจะเรียกได้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมานั้นสวาปามกันเต็มคราบ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็รู้ดีถ้าไม่น้ำท่วมปากก็น่าจะขอกันได้

หลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยที่อุดรธานี กับสโลแกนครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าปลายทางหลังการเลือกตั้งจะมีบทสรุปมาอย่างไร แต่อย่างน้อยการตลาดของคนแดนไกลก็ได้ทำให้เห็นธาตุแท้ทางการเมืองของบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่ไม่ตอบปฏิเสธโอกาสในการจะจับมือกับพรรคของนายใหญ่จัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

มิหนำซ้ำ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นจังหวะที่บรรดาพวกเขี้ยวลากดินทั้งหลายได้ใช้เป็นเครื่องมือในการเขย่าขวัญสั่นประสาทของคนที่กลัวจะสูญเสียอำนาจได้ด้วย ยิ่งมีคิวที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีกสองเดือนข้างหน้า การเชิญพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเล็กพรรคน้อยมากินข้าวแล้วอ้างการคุยกันแบบสุภาพบุรุษไม่เพียงพออย่างแน่นอน อย่างที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ บอก ต้องหิ้วกระเป๋าเข้าสภา (อีกครั้ง) แต่ต้องไปดูว่าเที่ยวนี้ใครใบใหญ่กว่ากัน ทุกอย่างมีต้นทุนที่จะต้องจ่ายยิ่ง (อยาก) อยู่นานยิ่งใช้เยอะ

Back to top button