หุ้นแบงก์ยังแกร่ง

ข่าวสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ปรับลดเรตติ้งหุ้นแบงก์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สรุปแล้ว นักลงทุนเกิดการ “แพนิก” เพียงชั่วครู่


ข่าวสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ปรับลดเรตติ้งหุ้นแบงก์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

สรุปแล้ว นักลงทุนเกิดการ “แพนิก” เพียงชั่วครู่

วันนั้น เปิดตลาดหุ้นช่วงเช้ามีการขายหุ้นออกมาทั้ง  KBANK  SCB TTB  รวมถึง  BBL ด้วย

ทว่า ในเวลาไม่นานนัก

ค่อย ๆ เริ่มมีแรงซื้อหุ้นแบงก์เหล่านี้กลับคืน

ก่อนที่เมื่อวานนี้ หุ้นต่าง ๆ เหล่านั้น จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ และราคาหุ้นกลับมายืนจุดเดิม

ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์

ต่างยังมีมุมมองเชิงบวกกับธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ

ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติ เพิ่งจะมีแถลงข่าว เกี่ยวกับผลประกอบการธนาคารพาณิชย์

พร้อมเปิดเผยถึงตัวเลขสำคัญทางการเงินของธนาคารฯ ทั้งระบบ เช่น

  1. เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ทรงตัวในระดับสูง 19.9% หรือมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.03 ล้านล้านบาท
  2. เงินสำรองอยู่ในระดับสูงกว่า 8.89 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่มีอยู่ต่อเอ็นพีแอลที่ระดับ 162.6%
  3. สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ 189.2%
  4. อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก (L/D) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.2% สะท้อนความมั่งคงแข็งแรงต่อเนื่องของระบบธนาคารพาณิชย์

ด้านกำไรสุทธิระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 อยู่ที่จำนวน 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% จากปีก่อน

มาจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปี 2563

ในปี 2564 ธนาคารมีการกันสำรอง 1.96 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิด-19 มีการกันสำรองถึง 2.30 แสนล้านบาท

มาดูค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของแบงก์

พบว่า ควบคุมได้ดีมาก

ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.81% จากปีก่อนที่ 0.69%

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย

ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.46% จากปีก่อนที่ 2.63%

ส่วนสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ขยายตัว 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1

แล้วมาดูตัวเลขที่สำคัญสุดของระบบธนาคารฯ

คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล

ภาพรวมหนี้เสียค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อนอยู่ที่ 2.98%

ทว่า ถือว่ากลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยมียอดคงค้างหนี้อยู่ที่ 5.30 แสนล้านบาท

ส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 6.39% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 6.62%

หากดูจากตัวเลขทางการเงินทั้งหมดนี้

อาจจะมีคำถามว่า แล้วเอสแอนด์พี มองตรงไหนที่เป็น “จุดอ่อน” ของแบงก์ที่ถูกปรับลดเรตติ้ง

คำตอบคือ “เอ็นพีแอล”

เพราะเอสแอนด์พีประเมินว่า เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL) ในภาคธนาคารของไทย

จะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นในอีก 24 เดือนข้างหน้า

และขึ้นมาแตะที่ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

แม้เอสแอนด์พีจะมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับการที่แบงก์ไทยต้องเผชิญกับหนี้เสียเพิ่มขึ้น

แต่ยังชมในด้านความแข็งแกร่งของเงินกองทุนว่า “แกร่งมาก”

แนวโน้มของธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารยังสามารถรักษาฐานเงินทุน และอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบได้บางส่วนเอสแอนด์พี เผยไว้ในรายงานล่าสุด

ส่วนมุมมองโบรกฯ เอง ได้บอกว่า เงินกองทุนของไทยแกร่งจริง ๆ

ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกปรับเรตติ้ง มีไม่มากนัก

เพราะแบงก์ไทยออก “หุ้นกู้” กันน้อยมาก

และนั่นทำให้ช่วงวันอังคารมีนักลงทุนเกิดการ “ขายหมู” ปล่อยหุ้นแบงก์ออกมา

และเมื่อวานนี้ น่าจะมีการซื้อกลับ

ในราคาที่อาจจะแพงกว่าที่ปล่อยออกไป

Back to top button